(Quote) ทำไมธุรกิจต้องขายแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบ – อ่านความคิดเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี

November 13, 2020


เมื่อไม่นานมานี้ กระแสการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 32 ของ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่าด้วยเรื่องการกำหนดให้การโฆษณาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นความผิด มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับเป็นเงินสูงสุด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ปะทุขึ้นมาในสังคมไทย เนื่องจากเป็นข้อกฎหมายที่ถูกมองว่ามีบทลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นๆ ที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงอาจเป็นการละเมิดสิทธิ์ในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของประชาชนต่างๆ นานา

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ แต่ถ้าลองย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้า ความตั้งใจแรกเริ่มของ เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี หนึ่งในผู้ผลักดันพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สัมฤทธิผล คือต้องการให้ภาคธุรกิจในขณะนั้นรับผิดชอบต่อผู้ดื่ม ไม่ทำแผนการตลาดสร้างค่านิยมเกี่ยวกับการดื่มที่ผิดโดยไม่คำนึงถึงสังคมภาพรวม หรือผลักภาระให้ผู้ดื่มกลายเป็นผู้ร้าย กลายเป็นเพียงปัญหาระดับปัจเจกหากเกิดเรื่องร้ายแรงตามมาจากการสังสรรค์

“เราพูดอยู่เสมอว่าไม่ได้รังเกียจคนที่ดื่มเหล้า” คือสิ่งที่เภสัชกรสงกรานต์เน้นย้ำตลอดบทสนทนา 

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนย้อนอ่านทัศนะของเภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดีอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจจุดประสงค์ดั้งเดิม บริบทในสังคมไทยที่ทำให้ต้องมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และเหตุผลที่เขาคิดว่าต้องระมัดระวังในการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

:: ธุรกิจต้องรับผิดชอบผู้ดื่ม ::

 

พระราชบัญญัติที่ใช้ในปัจจุบันยังมีช่องโหว่หรือจุดอ่อนในการควบคุมตรงไหนอีกหรือไม่

มีแน่นอน นอกจากเรื่องโฆษณายังมีเรื่องการควบคุมสถานที่จำหน่าย เกณฑ์การกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่นับว่าเป็นสุรา และการแอบอ้างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นยา เป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ทำให้สามารถใส่ขวดขายตามร้านค้าได้เหมือนเครื่องดื่มชูกำลัง ทำการตลาดโฆษณาได้ บางคนทั้งรู้และไม่รู้ ซื้อมาดื่มก็เมา แม้แต่พระสงฆ์

หัวใจหลักของพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือเราต้องการควบคุมภาคธุรกิจมากกว่าควบคุมคนดื่ม สำหรับคนดื่มเราจะห้ามแค่ในสถานที่ที่ไม่ควรดื่มอยู่แล้ว เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือสถานที่ราชการ ซึ่งบางทีก็ถูกโจมตีจากนักมานุษยวิทยาว่าไปลิดรอนสิทธิคน ทั้งที่จริงๆ เป้าหมายของเราคือต้องการป้องกันสังคม เราพูดอยู่เสมอว่าไม่ได้รังเกียจคนที่ดื่มเหล้า ถ้าดื่มแล้วไม่สร้างปัญหาอะไรให้สังคม เราก็เคารพสิทธิของเขาและไม่ได้ว่าอะไร แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งสร้างปัญหาหลังดื่มเหล้า ทั้งกับตนเอง ครอบครัวและสังคม ที่ชัดเจนคือเมาแล้วขับ ก่ออาชญากรรมตามที่เห็นข่าวบนหน้าสื่อแทบทุกวัน ดังนั้นเราจึงต้องทำการรณรงค์ให้คนเหล่านี้ลดการดื่มเหล้าลงหรือเลิกดื่มเพื่อลดปัญหาสังคม

บางทีธุรกิจก็ออกมาพูดให้คนดื่มอย่างรับผิดชอบ แต่เรามองว่านั่นเป็นการโยนความผิดให้ลูกค้าตัวเอง เหมือนบอกว่าผลิตภัณฑ์ของเขาไม่มีปัญหา ปัญหาอยู่ที่คนดื่ม ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติด และตัวมันเองก็มีโทษต่อสุขภาพอีกมาก องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าเหล้าเป็นสาเหตุหนึ่งของ 200 โรคและการบาดเจ็บ ดังนั้นเราต้องการให้เขาเริ่มต้นทำการตลาดและขายอย่างรับผิดชอบมากกว่า อย่าพยายามเลี่ยงกฎหมายและอย่าเห็นเยาวชนเป็นเหยื่อ

 

:: ผลกระทบจากการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ ::

 

ช่วงที่เริ่มรณรงค์เรื่องเหล้า มีความท้าทายอะไรในสังคมไทยบ้าง

สังคมไทยไม่มีคนรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อน และสมัยนั้นยังไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเหล้ามาก เป็นแค่ความรู้พื้นๆ ทั่วไปไม่ได้เจาะลึก บางครั้งคนที่รณรงค์ยังโดนข่มขู่จากธุรกิจแอลกอฮอล์ ทำให้การรณรงค์เรื่องเหล้าไม่ได้เป็นกระแสในสังคมเท่าไร ฉะนั้น สังคมไทยจึงรู้สึกว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติธรรมดา และยิ่งมีคนรู้สึกว่าธรรมดาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการทำการตลาด การโฆษณาของภาคธุรกิจ ซึ่งมีผลทำให้พฤติกรรมการดื่มในสังคมไทยเปลี่ยนไปมาก

ในหนังสือของพระไพศาล วิสาโลเกี่ยวกับเหล้าและสังคมไทยซึ่งอ้างอิงจากบันทึกของฝรั่งที่เข้ามาอยู่ในไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์กล่าวว่าเดิมคนไทยที่ดื่มสุรามีน้อยมาก ในหนึ่งหมู่บ้านจะมีคนดื่มแค่คนสองคน ส่วนผู้หญิงไม่มีการดื่มเลย ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ถ้าข้าราชการคนไหนไปดื่มให้ชาวบ้านเห็นจะถูกลงโทษอย่างหนักเพราะถือว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี แต่เมื่อเหล้ากลายเป็นสินค้าเสรี โฆษณาได้อย่างเสรี ทำให้สังคมเปลี่ยนไป การดื่มกลายเป็นเรื่องสนุกสนานปกติ และมีค่านิยมผิดๆ เกิดขึ้น เช่น ถ้าผู้ชายไม่ดื่มก็ถือว่าไม่ใช่ลูกผู้ชาย เหยียดหยามคนที่ไม่ดื่ม

ผลกระทบจากการทำการตลาดและโฆษณาที่เห็นได้อย่างชัดเจนอีกเรื่องคือพฤติกรรมการดื่มเบียร์ ถ้าถอยหลังไปหลายสิบปีก่อนหน้านี้จะเห็นว่าคนไทยดื่มเบียร์ไม่เป็น ดื่มแต่เหล้าขาว เหล้าสาโท เหล้าพื้นบ้าน แต่ด้วยกลยุทธ์การตลาด เช่น ขายเหล้าพ่วงเบียร์ให้กับร้านค้า ทำให้ร้านค้าต้องพยายามขายเบียร์ และทุกคนเข้าถึงเบียร์ได้ง่าย ใช้พรีเซนเตอร์เป็นนักร้องดังมาร้องเพลงประกอบโฆษณา จนทุกวันนี้คนไทยดื่มเบียร์มากที่สุด และตลาดเบียร์ไทยมีมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาท

 

:: บุหรี่ vs เหล้า ::

 

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเหล้ากับบุหรี่ ดูเหมือนกฎหมายควบคุมบุหรี่จะเด็ดขาดและเข้มแข็งกว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เหตุผลแรกคือการยอมรับในสังคม ในปัจจุบัน ถ้าเทียบระหว่างเหล้ากับบุหรี่ คนจะรู้สึกปฏิเสธบุหรี่มากกว่า แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการรณรงค์เรื่องบุหรี่ก่อนแอลกอฮอล์มานับ 20 ปีตั้งแต่ก่อนสสส.เกิด ดังนั้นมันจึงเป็นกระแสในสังคมมากกว่า สำหรับแอลกอฮอล์ตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ตระหนักมากนัก ทั้งๆ ที่เราเห็นข่าวปัญหาจากน้ำเมาแทบทุกวัน หรือกระทั่งในระดับโลกยังรู้สึกการดื่มไม่เป็นปัญหา เพิ่งจะเริ่มตื่นตัวมากขึ้น

เหตุผลต่อมาเป็นเรื่องของกฎหมาย บุหรี่มีกฎหมายระดับโลกควบคุม เป็นมาตรฐานสากลที่บังคับให้ประเทศไทยต้องออกกฎหมายตาม แต่เหล้ายังไม่มี ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงแล้วแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาสังคมหลายมิติมากกว่าบุหรี่ บุหรี่มีปัญหาเรื่องของสุขภาพคนสูบเป็นหลักและใช้เวลา แต่คนดื่มจนสร้างปัญหาต่อคนอื่นๆ อย่างมากและอาจเกิดเฉียบพลัน ตอนนี้เราจึงเริ่มมีคำว่า “เหล้ามือสอง” เพิ่มมาในการรณรงค์ ซึ่งมีความ  หมายในทำนองเดียวกับ “ควันบุหรี่มือสอง” คือคนรอบข้างได้รับผลกระทบจากคนดื่ม ทั้งความรุนแรงในครอบครัว จากงานวิจัยของมูลนิธิเพื่อนหญิงบอกว่าความรุนแรงในครอบครัวที่มีคนดื่มมีมากกว่าครอบครัวที่ไม่มีคนดื่ม 3-4 เท่า หรือปัญหาชัดเจนอย่างการเมาแล้วขับก็เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตบนท้องถนน จนทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ยิ่งในช่วงเทศกาลยิ่งมีมากขึ้น

ปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ คือปัญหาเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเคยทำวิจัยพบว่าเยาวชนเกือบครึ่งที่อยู่ในสถานพินิจทำความผิดหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 5 ชั่วโมง ดังนั้นแอลกอฮอล์ก็ทำให้เด็กเสียอนาคตเช่นกัน ส่วนปัญหาเอดส์ ถึงยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุตัวเลขชัดเจน แต่พระอาจารย์อลงกต เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุเคยพูดไว้ว่าคนส่วนใหญ่ติดเอดส์เพราะเมาแล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ด้านข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุราบอกว่าถ้าคำนวณผู้เสียชีวิตจากการดื่มเหล้าอย่างละเอียดโดยนับโรคต่างๆ ที่เกิดจากการดื่ม (BOD) ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นคนต่อปี เรียกได้ว่าแอลกอฮอล์ก็ทำลายสังคมหลายมิติ

อีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องการขายเหล้าอย่างเสรีในประเทศไทย ถ้าเปรียบเทียบธุรกิจแอลกอฮอล์กับบุหรี่ ธุรกิจโรงงานยาสูบเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ธุรกิจแอลกอฮอล์ของไทยส่วนใหญ่เป็นเอกชน แม้เราจะพูดอยู่เสมอว่าการค้าเสรีไม่ควรใช้กับสินค้าที่ทำลายสุขภาพ รัฐควรจะเป็นคนขาย เพราะเมื่อรัฐเป็นคนทำ เขาจะขายเท่าที่จำเป็นในวงที่จำกัด ซึ่งเดิมไทยก็ทำอย่างนั้น แต่ต่อมารัฐปล่อยให้เอกชนทำเพราะเชื่อว่าช่วยเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ พอรัฐไม่ได้ทำจึงควบคุมได้ยาก และธุรกิจแอลกอฮอล์ของเอกชนเป็นทุนใหญ่ของพรรคการเมืองแทบทุกพรรค ดังนั้นไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ยังมีอิทธิพลต่อฝ่ายการเมือง ทำให้การออกกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะเป็นเรื่องยาก

อีกด้านหนึ่ง เราพยายามมองหาโอกาสจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถือโอกาสเปลี่ยนเรื่องร้ายในสังคมให้กลายเป็นการควบคุม ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดคือการห้ามขายเหล้าบนรถไฟ เมื่อก่อนเราเสนอการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าห้ามขายเหล้าบนรถไฟ ไม่มีใครฟัง เพราะติดเรื่องผลประโยชน์ แต่เมื่อเกิดคดีฆ่าข่มขืน เป็นข่าวดังมาก พอเราไปเสนอเลยไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ทุกวันนี้จึงเกิดข้อบัญญัติเรื่องห้ามขายห้ามดื่มเหล้าบนรถไฟ

 

:: ครอบครัวสำคัญต่อคนเลิกเหล้า ::

 

อะไรเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่เลิกดื่มได้

ส่วนใหญ่คนจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้เพราะคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ลูกเป็นแรงจูงใจที่ดีในการขอให้พ่อแม่งดเหล้า และถ้าเขาได้ลองงด บางคนจะคิดว่าทำไมงดแค่เข้าพรรษา ในเมื่องดต่อไปได้ ต่อไปก็จะมีกำลังใจในการเลิกเหล้าได้ตลอดชีวิต ดังนั้นเราจึงจัดโครงการให้คนในครอบครัว อย่างลูกหรือภรรยามาพูดความในใจให้คนดื่มฟัง ว่ามีความทุกข์อย่างไรบ้าง ตัวคนดื่มจะได้ตระหนักและรู้สึกอยากเลิกเพื่อคนสำคัญ หรือตอนนี้เราจัดโครงการโพธิสัตว์น้อยในโรงเรียน ให้ลูกเขียนจดหมายขอพ่อแม่ลด ละ เลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษาและเลิกต่อไป พร้อมกับการรณรงค์ต่อเนื่องทุกปีเพื่อช่วยกระตุ้นให้คนเลิกเหล้า

 

:: กฎหมายที่ไม่เหมือนความตั้งใจเดิม ::

 

กว่า 11 ปีหลังจากประกาศพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยบ้าง และอะไรที่ไม่เปลี่ยนไปเลย

มีคนเปรียบเทียบว่าเราเสนออาวุธเป็นกระบองไปแต่สุดท้ายผลลัพธ์ออกมาได้เป็นไม้จิ้มฟัน เพราะกฎหมายของเราถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก และปัญหาหนึ่งของประเทศไทยคือการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านนี้เคยทำแต่งานที่เป็นคุณแก่ประชาชน เช่น ไปให้ความรู้คน เมื่อต้องมาทำงานคอยควบคุมคนตามกฎหมาย ต้องไปขัดแย้งกับคนอื่นๆ เขาก็รู้สึกไม่อยากทำ เจ้าหน้าที่บางคนที่มีตำแหน่งคอยควบคุมดูแลเรื่องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้กระตือรือร้นเข้าร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  นอกจากนี้ยังมีเรื่องอิทธิพลของธุรกิจแอลกอฮอล์ในแต่ละพื้นที่ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองท้องถิ่น ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายจึงยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ด้วยกฎหมายมากมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าบังคับใช้ได้จริงจะช่วยควบคุมและแก้ไขปัญหาได้มาก

แต่โดยรวมยังเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าการไม่มีกฎหมายบังคับเลย กฎหมายทำให้มีการทำงานเชื่อมกันระหว่างภาคประชาสังคมในแต่ละจังหวัด ช่วยกันทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้ายาม (Watchdog) เฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ และร้องเรียนต่อสำนักงานควบคุมแอลกอฮอล์หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ดีและเอาจริงก็มี หลายคดีที่เป็นการโฆษณาที่ผิดอย่างชัดเจนก็ถูกฟ้องและถูกปรับไปแล้ว หรือถ้าเราลงโทษไม่ได้อย่างน้อยก็สามารถปรามได้ เช่น ครั้งหนึ่งเคยมีคนทำงานภาคประชาสังคมไปร้องเรียนหน่วยราชการหนึ่งในจังหวัดเรื่องการจัดงานเลี้ยง ดื่มเหล้ากันในบริเวณสถานที่ราชการ ถึงอีกฝ่ายจะแถลงว่าไม่ได้มีการดื่มเหล้าจริง แต่เบื้องหลังเขาก็ไปกำชับกันเองว่าห้ามไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ดังนั้นถึงเราจะเป็นแค่ไม้จิ้มฟัน แต่อย่างน้อยถ้าเป็นไม้จิ้มฟันที่คอยทิ่มแทงให้ถูกที่อยู่เรื่อยๆ ก็ส่งผลต่อสังคมเช่นกัน

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles