คุณคิดว่าการดื่มเหล้า 1 ครั้ง ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่าไร?
บางคนอาจคิดว่าจ่ายแค่เงินค่าเหล้า ค่าโซดา ค่าน้ำแข็ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้ามองภาพรวมของสังคม คนไทยอีกจำนวนหลายล้านคนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม หรือกระทั่งค่าเสียหายจากอุบัติเหตุยานยนต์ รวมทั้งหมดเป็นเงินเฉลี่ยปีละ 8.5 หมื่นล้านบาท
ในสายตานักเศรษฐศาสตร์ ผู้ทำงานการประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันอย่าง ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล มองว่าปัญหาคนติดเหล้าเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง
และนี่คือทัศนะส่วนหนึ่งจาก บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ที่ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า คัดสรรมาให้คุณ
:: การดื่มเหล้าสร้างต้นทุนที่สังคมต้องจ่าย
ทั้งทางตรงและทางอ้อม ::
อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายแนวคิดเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่เป็นหัวใจหลักของงานวิจัยชิ้นนี้
เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่กว้างมากและสามารถเชื่อมโยงได้หลายประเด็น เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเป็นการเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นเรื่องต้นทุนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ที่เข้าใจกันทั่วไปคือเรื่องประเมินความคุ้มค่า (cost effectiveness) ความคุ้มทุน หรือมูลค่าต้นทุนของการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการต่างๆ แต่ในต่างประเทศ เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจะเป็นการสำรวจพฤติกรรมของคนในการใช้บริการด้านสุขภาพ (Healthcare Utilization) มาแปลงเป็นโมเดลเพื่อศึกษาร่วมกับหลักสถิติหรือเศรษฐมิติ หากเป็นการประเมินต้นทุน จะนับว่าเป็นสาธารณสุขศาสตร์ (Public Health) มากกว่า ไม่เหมือนกับความเข้าใจในไทย
สำหรับงานวิจัยด้านแอลกอฮอล์ของอาจารย์เป็นการประยุกต์จากเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในแง่การคำนวณต้นทุนทั้งหมดของโรคบางโรค หรือ cost of illness โดยการศึกษาทั่วไปอาจจะดูแค่โรคเดียว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือหลอดเลือดสมอง ประเมินต้นทุนออกมาดูว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อระบบสาธารณสุขเท่าไร แต่เมื่อเป็นเรื่องเหล้า จำเป็นต้องพิจารณาหลายด้าน โดยเราประเมินต้นทุนจากการตีความว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่คำนวณได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากการดื่มเหล้า ด้วยการหางานวิจัยอื่นมาประกอบกัน
การประเมินต้นทุนในงานวิจัยของอาจารย์หลักๆ มี 2 ประเภท คือต้นทุนผลกระทบต่อสังคมทางตรงและทางอ้อม ต้นทุนทางตรงคือค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการจ้างตำรวจ การดำเนินการในศาล ส่วนต้นทุนทางอ้อมเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งไม่ได้มีการจ่ายเกิดขึ้นจริง เช่น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการขาดงาน เรามองว่าถ้าคุณทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เพราะเหล้า แสดงว่ามันเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งที่เหล้าสร้างต่อสังคมด้วย
:: ถ้าเราดื่มเหล้ากันเร็วขึ้น ::
อาจารย์มองเห็นพฤติกรรมการดื่มที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และมันส่งผลต่อสังคมอย่างไรในแง่เศรษฐศาสตร์
เท่าที่เห็นคือมีคนที่มีพฤติกรรมดื่มหนัก (binge drinking) มาก ผู้หญิงเริ่มดื่มมากขึ้น และคนเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุยังน้อย
เมื่อคนเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะเป็นโรคที่เกิดจากการดื่มเหล้าเร็วขึ้น และเมื่อเป็นโรคเร็วขึ้น สุดท้ายจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทย ผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 79 ปี และผู้ชายอยู่ที่ 72 ปี ถ้าสมมติเสียชีวิตด้วยโรคตับแข็งจากการดื่มเหล้าตอนอายุ 30 ปี เวลาที่หายไปในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นต้นทุนที่คุณก่อแก่สังคม เพราะเวลาตรงนั้น คุณควรจะทำงานให้ประเทศได้ในรูปของ GDP หรืออื่นๆ คุณอาจจะเป็นส่วนเล็กๆ แต่คุณก็มีส่วน แต่เมื่อคุณเสียชีวิตไปแล้วมันก็หายไป กลายเป็นเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่คุณก่อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติอย่างมหาศาลแทน ซึ่งต้นทุนตรงนี้เป็นต้นทุนที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยสนใจ เพราะในแง่หนึ่ง มีแต่นักเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่มองมันเป็นต้นทุน เป็นค่าเสียโอกาสของสังคม ถ้าเป็นศาสตร์อื่นอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นต้นทุนเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายออกมาเป็นตัวเงิน
:: เมื่อผู้หญิงดื่มเหล้ามากขึ้น ::
ด้านการคำนวณต้นทุนค่ารักษาพยาบาล อาจารย์ได้สำรวจหรือไม่ว่ากลุ่มนักดื่มเพศใดมีค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาโรคสูง
ในกระบวนการทำวิจัยของอาจารย์จะมีการตีค่า AAF หรือ Alcohol-Attributable Fractions เพื่อหาว่าโรคต่างๆ เช่น มะเร็งตับ ตับแข็ง มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ในการคำนวณ AAF ใช้ข้อมูล 2 ตัว คือข้อมูลด้านระบาดวิทยาและอัตราความชุกในการดื่ม สิ่งที่เราเจอคือ AAF ของผู้ชายเยอะกว่าผู้หญิง เพราะมีอัตราการดื่มเยอะกว่า จึงทำให้ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลระหว่างเพศชายและหญิงต่างกันแน่นอน ด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อของสังคมหลายเรื่องที่ทำให้ผู้ชายมีอิสระมากกว่า ผู้หญิงดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่แล้วจะดูไม่ดี อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของอาจารย์สังเกตได้ว่าผู้หญิงเริ่มดื่มเหล้าเยอะขึ้น ภาพผู้หญิงดื่มเหล้าไม่ได้ดูเลวร้ายเท่าเมื่อก่อน มีการยอมรับมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว
อีกจุดหนึ่งที่อาจารย์คิดว่าน่าสนใจคือช่วงอายุของนักดื่ม เพราะช่วงอายุ 25-30 หรือ 35-40 ปี อัตราความชุกเกี่ยวกับการดื่มเหล้าจะสูงมาก แต่พอสัก 50-60 ปีจะลดลงเพราะเริ่มเป็นโรค หมายความว่า AAF อาจจะเริ่มลดลงตามอายุ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องศึกษากันต่อไป
:: ดื่มเหล้าจนป่วย ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ::
ถ้าเรามีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ดีขึ้น ระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้คนเสียชีวิตน้อยลง จะทำให้ต้นทุนผลกระทบต่อสังคมของเรามีการเปลี่ยนแปลงไหม
อย่างไรก็มีต้นทุนอยู่ดี แล้วแต่ว่าจะไปเพิ่มขึ้นตรงส่วนไหน และมันยากตรงที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เราต้องนำเข้า ดังนั้นแนวโน้มต้นทุนก็อาจจะสูงขึ้น
แม้คนจะเสียชีวิตน้อยลง แต่ถ้าต้องมีการรักษาพยาบาลมากขึ้นก็เป็นปัญหาอยู่ดี เพราะระบบสวัสดิการด้านสุขภาพของไทยคือนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการใช้ภาษีของประชาชน แปลว่าการที่คุณไม่สบายเพราะเหล้าแล้วไปหาหมอ มันเป็นการใช้ภาษีคนอื่นมารักษาตัวเองอยู่ ถ้าเป็นต่างประเทศอย่างอเมริกาที่บังคับให้คุณต้องจัดการจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด ไม่มีสวัสดิการรัฐ ก็อาจไม่มีปัญหาเรื่องต้นทุนต่อสังคมมาก แต่ในเมื่อระบบสาธารณสุขของเรามีสวัสดิการรัฐเยอะ ถ้าคุณดื่มเหล้าจนป่วย คุณกำลังสร้างความเดือดร้อนต่อประเทศนะ นี่เป็นต้นทุนสำคัญที่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น
:: ความเสียใจ = ต้นทุนที่ประเมินค่าไม่ได้ ::
อาจารย์บอกว่าต้นทุนของสังคมที่สูญเสียไปจากการดื่มเหล้ามีสูงมาก แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจแอลกอฮอล์ก็อาจอ้างได้ว่าธุรกิจของเขาสร้างรายได้ให้กับประเทศเช่นกัน
ตรงนี้พูดยากเหมือนกัน เนื่องจากตัวเลขที่เราประเมินเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำ หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า conservative estimate เพราะข้อมูลของเราไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เราสันนิษฐานตัวเลข (assumption) ค่อนข้างมาก และต้นทุนเหล่านี้ยังไม่ได้รวมต้นทุนที่เราเรียกว่า Intangible Cost หรือต้นทุนที่ประเมินไม่ได้ เช่น ความเจ็บปวดจากความเสียใจ สมมติว่ามีครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อดื่มเหล้าเป็นตับแข็งเสียชีวิต แม่และลูกมีความเสียใจ หรือคนที่โดนคนเมาขับรถชนจนพิการ มีความทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้เราประเมินออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวเลขที่เราประเมินอาจจะมากหรือน้อยกว่ารายได้ที่บริษัทพวกนี้กล่าวอ้างก็จริง แต่มันก็มีต้นทุนส่วนอื่นที่มันเกิดขึ้นซึ่งประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้เช่นกัน เราต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน
:: ช่วยกันลดต้นทุนจากการดื่มเหล้า ::
เราสามารถลดต้นทุนผลกระทบทางสังคมได้อย่างไรบ้าง
ส่วนตัวคิดว่าควรเพิ่มการบังคับใช้ (reinforcement) กฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมหลังดื่มเหล้า ซึ่งจริงๆ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีมาก แต่การบังคับใช้อาจไม่ได้เข้มแข็ง เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่คนดื่มเหล้าเยอะมาก ตกเย็นพนักงานออฟฟิศชวนกันไปดื่มเหล้าจนกลายเป็นวัฒนธรรม แต่ญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยมีความรุนแรงหรือคดีความที่เกิดจากการกินเหล้า เพราะกฎหมายเขารุนแรงและเอาจริง ถ้าเมาแล้วขับ ถูกยึดใบขับขี่ ไมได้ขับไปอีกนาน ฉะนั้น อาจารย์มองว่าเราต้องบังคับใช้กฎหมายเพิ่มมากขึ้นถ้ายังให้มีการขายแอลกอฮอล์อย่างเสรีเหมือนทุกวันนี้ ถึงการบังคับใช้กฎหมายอาจจะลดต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งหมด แต่ที่ลดได้แน่ๆ คือต้นทุนความเสียหายจากการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวนมากในประเทศไทย ส่วนในแง่ความเจ็บป่วย กฎหมายห้ามขายแอลกอฮอล์ให้ผู้เยาว์ก็อาจจะช่วยยืดเวลาก่อนที่เขาจะเริ่มกินเหล้าหรือเริ่มเป็นโรคให้นานออกไป
อย่างไรก็ตาม วิธีการคุมต้นทุนที่ดีที่สุดคือการควบคุมตัวเอง เริ่มจากจุดเริ่มต้นว่าไม่ดื่ม หรือดื่มแต่น้อย ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ดื่มแล้วคุมตัวเองให้อยู่ ไม่ออกไปขับรถ กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยขัดเกลา (shape) พฤติกรรมเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมก็มีผลเช่นกัน อาจารย์มองว่าการที่คนไทยต้องสังสรรค์ หาเพื่อน หา connection ด้วยการกินเหล้า หรือเด็กนักเรียนนักศึกษากินเหล้าเพื่อฉลองกันเป็นปกติ จะคุยกันได้ เฮฮากันได้ต้องมีเหล้า เป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกลงในสังคม เราก็ได้แต่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
:: ช่วยคนติดเหล้า = ช่วยประเทศ ::
ด้านการบำบัดรักษาคนติดเหล้า การประเมินต้นทุนเหล่านี้สามารถเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือได้อย่างไร
เราสามารถประเมินต้นทุนของคนที่ติดเหล้าว่าสร้างผลกระทบให้สังคมเท่าไร ประเมินว่าในไทยมีคนติดเหล้ากี่คน นำไปเปรียบเทียบกับเงินที่ทำโครงการสร้างหน่วยงานบำบัดต่างๆ ว่าคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร
ส่วนตัวอาจารย์มองว่าคนติดเหล้าเป็นกลุ่มที่เราควรช่วยเหลือ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ตอนแรกอาจเป็นความสมัครใจของผู้ดื่ม แต่ถ้าดื่มถึงขั้นติดนี่ไม่ใช่ความสมัครใจหรือทางเลือกแล้ว เป็นโรคอย่างหนึ่ง รัฐเองก็ควรช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เพราะถ้าเราทำให้เขาเลิกติดเหล้าได้ก็จะมีคุณประโยชน์มาก เช่น ถ้าเขาอายุ 40 ปี ติดเหล้า แต่เราทำให้เขากลับมามีชีวิตปกติได้ หมายความว่าเขาจะมีชีวิตต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปีในการทำงานสร้างรายได้ให้ระบบ (contribute) เศรษฐกิจ ซึ่งมันอาจจะคุ้มค่าก็ได้
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm