เมื่อสถิติบอกว่า เหล้าคือยาเสพติดที่อันตรายมากที่สุด

July 9, 2019


เชื่อหรือไม่ ถ้าเราจะบอกว่า สุราเป็นสารเสพติดที่อันตรายยิ่งกว่าเฮโรอีนหรือโคเคน

แน่นอน ประโยคข้างต้นอาจจะฟังดูแปลกประหลาดไปสักนิด เพราะเรามักถูกสอน (ให้ท่องจำ) อยู่เสมอว่า เฮโรอีนคือยาเสพติดที่รุนแรงที่สุด ส่วนสุรานั้นจัดว่าเป็นอันตรายน้อยอยู่ในอันดับต้นๆ อีกทั้งในชีวิตประจำวัน คนเราก็มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรม จะงานแต่งหรืองานฉลองใดๆ ขอแค่มีขวดสีอำพันอยู่ตรงหน้า ก็พร้อมจะมีคนยกดื่มเสมอ

ไม่ต้องพูดถึงว่า สุรายังเป็นสารเสพติดที่เข้าถึงได้ง่าย และถูกกฎหมาย แตกต่างจากสารเสพติดประเภทอื่นที่มีข่าวจับกุมผู้มีไว้ในครอบครองกันครึกโครม เพราะฉะนั้น การจะบอกว่าสุราเป็นสารเสพติดที่อันตรายกว่าเฮโรอีน หรือโคเคน จึงฟังดูเป็นประโยคที่แปลกสิ้นดี ไม่ว่ากับคนที่ดื่ม หรือไม่ดื่มก็ตาม

แต่ล่าสุด นิตยสาร The Economist ได้นำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า บรรดายาเสพติดที่เรารู้จักกันมา สุรานี่แหละที่อันตรายที่สุด! เมื่อเราวัดความเสียหายทั้งต่อผู้ใช้และคนรอบข้าง (โดยสถิตินี้เป็นข้อมูลในสหราชอาณาจักร)

 

 

หลายคนอาจแย้งว่า การวัด ‘อันตราย’ โดยคำนึงถึงอันตรายต่อผู้อื่นด้วย เป็นการเล่นกลทางสถิติ แต่ถ้าหากดูอันตรายที่เกิดกับผู้ใช้ (แท่งสีฟ้า) ‘พิษ’ จากสุราก็ยังรุนแรงอยู่ในระดับต้นๆ

ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว ทำไมสุราถึงเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย แต่อย่างอื่นไม่?

คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่คณะกรรมการด้านนโยบายสารเสพติดระดับโลก (Global Commission on Drug Policy) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของอดีตประธานาธิบดีและผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย พยายามค้นหาคำตอบ ซึ่งทางกลุ่มได้ออกมาสรุปว่า หากยึดจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เรื่องนี้เกิดจากความไร้เหตุผลของกฎหมายด้านสารเสพติดในปัจจุบัน

กฎหมายที่ว่าเกิดจากระบบการจำแนกสารเสพติดของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งจำแนกสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทกว่า 300 ชนิดไว้ในรายการ และพิจารณาสารเหล่านี้โดยอิงจากประโยชน์และผลเสีย ยาหรือสารบางตัวอาจเป็นคุณทางการแพทย์ เช่น มอร์ฟีน แต่บางชนิดก็อาจมีไว้เพื่อการสันทนาการเท่านั้น เช่น เห็ดขี้ควาย ด้วยเหตุนี้ สารที่ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์จะถูกจำแนกเป็นยาอันตราย และการพกพาหรือมีไว้ในครอบครองจะถูกกล่าวโทษเทียบเท่าอาชญากรรมทันที ซึ่งเป็นการตัดสินโทษโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจริงๆ ที่เกิดจากตัวสารเสพติด

ในปีค.ศ.2010 ข้อบกพร่องในตัวระบบดังกล่าวยิ่งเห็นได้ชัดขึ้น เมื่อกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสารเสพติดในสหราชอาณาจักร ทำการจัดอันดับสารเสพติดที่ก่อให้เกิดความอันตรายต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่ออาชญากรรม การทะเลาะวิวาท ไปจนถึงปัญหาในครอบครัว ผลปรากฏว่า สุราคือสารเสพติดที่ก่อให้เกิดความอันตรายต่อสังคมเป็นอันดับแรก ตามมาติดๆ ด้วยเฮโรอีนและโคเคน ในขณะที่ยาซึ่งมักถูกใช้ตามสถานบันเทิงต่างๆ เช่น ยาอี หรือยาม้า กลับได้คะแนนความอันตรายน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่สหประชาชาติจัดให้ยาสายบันเทิงเหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่มีความรุนแรงเทียบเท่าโคเคนและเฮโรอีน

แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การจัดอันดับดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องอยู่บางประการ เช่น การที่แอลกอฮอล์ถูกจัดไว้ในอันดับต้น อาจเป็นเพราะการใช้แอลกอฮอล์ที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย และการใช้แอลกอฮอล์มากเกินไปจะก่อให้เกิดอันตรายต่อคนอื่นด้วย ขณะที่แคร็กโคเคน (Crack cocaine) หรือโคเคนผลึก เป็นยาที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้มากกว่า ส่วนสารเสพติด เช่น เฮโรอีน ถูกจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่า เฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้มักซื้อยาในปริมาณที่บริสุทธิ์ และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

ประเด็นต่อเนื่องสำคัญของข้อถกเถียงนี้คือ ทางเลือกเชิงนโยบายของการจัดการปัญหายาเสพติด โดยคณะกรรมการด้านนโยบายสารเสพติดระดับโลกชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศจำเป็นต้องทบทวนมาตรการเกี่ยวกับการจัดการปัญหายาเสพติดอีกครั้ง เพราะมาตรการการจัดการยาเสพติดแบบ ‘แคบ’ ที่เน้นการปราบปรามเข้มงวดมักนำไปสู่ปัญหาสังคมแบบอื่น ในอนาคต การออกแบบกฎหมายยาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับอันตรายและประโยชน์ของยา จำเป็นจะต้องอาศัยการคาดการณ์การตอบสนองของตลาดยาด้วย ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ยังมีทางเป็นไปได้อยู่

“บางที นี่อาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับว่า สังคมที่ไม่มีสารเสพติดเลยเป็นเพียงภาพลวงตา และการจัดระเบียบสารเสพติดที่เหมาะสมจะทำให้สังคมโดยรวมปลอดภัยมากขึ้น” รายงานของคณะกรรมการด้านนโยบายสารเสพติดระดับโลกได้ตั้งคำถามแหลมคมทิ้งไว้

 


ที่มา: The Economist, “What is the most dangerous drug?”, 8 กรกฎาคม 2562, เข้าถึงได้ที่ < https://www.economist.com/graphic-detail/2019/06/25/what-is-the-most-dangerous-drug?fsrc=scn%2Ffb%2Fte%2Fbl%2Fed%2Fwhatisthemostdangerousdrugdailychart&fbclid=IwAR2z8lnmg7415-H9G0eYvf8T9bHgBfXL0khJkVRQo-oUXql59zZuZJ_SOHE>.

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles