‘ชนแก้ว!’ วลีที่ใครหลายคนอาจจะคุ้นหู โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนเมษายนที่เราอาจจะได้ยินการเชิญชวนให้ชนแก้วบ่อยกว่าปกติ เพราะทุกคนมีโอกาสหยุดงานกลับบ้าน พักผ่อนยาวๆ เพื่อสะสางความเหนื่อยล้าซึ่งสะสมมาตลอดทั้งปี ซึ่งการพักผ่อนที่ว่าอาจเชื่อมโยงไปถึงการสังสรรค์ตั้งวงดื่มเหล้า หรือนั่งจิบน้ำเมาชิลๆ บนบ้าน มองดูผู้คนต่างๆ สาดน้ำกันในวันปีใหม่ไทย
แต่ในเดือนเมษายน 2563 นี้ อาจจะเป็นปีที่แปลกประหลาดสำหรับใครหลายๆ คน เพราะเป็นเดือนเมษายนที่ไทยไม่มีสงกรานต์เหมือนอย่างเคย เนื่องจากทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกหย่อมหญ้า
เพื่อป้องกันการระบาดไม่ให้ลามทุ่ง ‘การรักษาระยะห่างทางสังคม’ จึงถูกใช้เป็นมาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐ เช่น ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. (ยกเว้นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น) รวมถึงช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็มีการประกาศห้ามขายสุราทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี มาตรการห้ามขายสุราอาจมีผลกระทบมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ โดยถ้าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ดื่ม หรือดื่มบ้างเป็นครั้งคราว มาตรการนี้อาจจะไม่สร้างผลกระทบต่อชีวิตพวกเขามากนัก แต่กับคนที่ติดเหล้าหรือคนที่ต้องดื่มสุราเป็นประจำในทุกๆ วัน นี่อาจเป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น กรณีหนุ่มใหญ่ลงแดงจนเสียชีวิตเพราะต้องดื่มเหล้าวันละ 2 ขวด แต่ไม่สามารถหาดื่มได้ เพราะจังหวัดบุรีรัมย์ประกาศห้ามขายเหล้า หรือกรณีหนุ่มวิศวะดับคาห้องพัก หลังห้ามขายสุราจนต้องหักดิบอดเหล้า
ในแง่หนึ่ง การที่ผู้ดื่มซื้อสุราไม่ได้อาจถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดี เพื่อให้คน ลด ละ เลิก การดื่มได้ แต่อย่าลืมว่า การหาซื้อสุราไม่ได้ส่งผลกระทบกับคนอีกกลุ่มอย่างมาก โดยเฉพาะคนกลุ่มที่ติดสุราเรื้อรัง ซึ่งการขาดสุราจะส่งผลต่อสุขภาพจิต และบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จัดงาน ‘สัมมนาแนวทางการดูแลผู้ติดสุราในชุมชนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19’ โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ ทั้งกรมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอแนะจากงานวิจัย ประสบการณ์ที่เคยลงมือปฏิบัติงาน และความคิดเพื่อแสดงการเทียบเคียงการดูแลคนติดสุราก่อนโรค เพื่อเป็นการถอดบทเรียนและหารูปแบบการดูแลผู้ติดสุราที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน
จากเงิน 30 บาทและ 60 บาท สู่การบำบัดคนติดสุราในชุมชน – รศ.ดร.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์
วงสัมมนาเริ่มต้นด้วยการแลกเปลี่ยนงานวิจัยที่กล่าวถึงการศึกษาประสิทธิผลของการบำบัดคนติดสุราในชุมชน ด้วยวิธีการให้สิ่งจูงใจเป็นเงินมูลค่า 30 บาท และ 60 บาท ดำเนินกระบวนการผ่านการออกเยี่ยมตามบ้านของอสม. โดย รศ.ดร.นพ.ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของงานวิจัย เกริ่นนำว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อมองหาแนวทางใหม่ๆ สำหรับการบำบัดคนติดสุรา โดยเริ่มจากการออกค้นหาผู้ป่วยที่ติดสุราเป็นขั้นแรก
“ผู้ดำเนินการค้นหาจะประกอบด้วยอสม. และผู้ช่วยวิจัย 2 คน ซึ่งจะต้องทำงานคลุกคลีกับอสม. และคนในพื้นที่ได้ อีกท้ังยังต้องมีลักษณะคล้ายกับเป็นโค้ช (Coach) เพื่อคอยช่วยเหลือและเป็นต้นแบบให้อสม. ด้วย”
กระบวนการต่อมา จะเป็นการลงพื้นเพื่อค้นหาผู้ป่วยติดสุราตามสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมผู้คนในชุมชน เช่น ร้านขายของชำ ร้านอาหารชุมชน หรือในกลุ่มวินมอเตอร์ไซต์ ซึ่งนพ.ตะวันชัยชี้ให้เห็นว่า การดื่มเหล้ามักจะดื่มกันเป็นวงสังสรรค์วงใหญ่ๆ ดังนั้น ถ้าเราพบผู้ป่วยติดสุราคนหนึ่ง ก็จะสามารถขยายผลจากคนหนึ่งไปสู่คนต่อๆ ไปได้
เมื่อค้นหาผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำผู้ป่วยมาตรวจร่างกายและจิตใจ ซึ่งผู้ที่ยินยอมเข้าร่วมรับการบำบัดมีจำนวนทั้งหมด 230 คน และถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อรับการบำบัด โดย กลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มที่อสม. เข้าเยี่ยมตามบ้านโดยไม่มีสิ่งจูงใจ กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่อสม. เข้าเยี่ยมตามบ้านโดยมีสิ่งจูงใจ 30 บาท และ กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่อสม. เข้าเยี่ยมตามบ้านโดยมีสิ่งจูงใจ 60 บาท
การบำบัดทั้ง 3 รูปแบบจะปฎิบัติต่อเนื่องกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ และติดตามผลต่ออีก 4 สัปดาห์ และในขณะที่วางเงื่อนไขโดยใช้สิ่งจูงใจแล้ว จะมีการรักษาแบบถอนพิษ (detoxification treatment) ควบคู่ไปด้วย
“เราจะสัมภาษณ์ผู้ดื่ม ผู้ดูแล และให้เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ (breathalyzer) เพื่อดูว่าผู้ป่วยดื่มสุราหรือไม่ ในกลุ่มของผู้ที่มีเข้าร่วมโครงการโดยมีสิ่งจูงใจ ถ้าพวกเขาไม่ดื่มเลย เราจะให้สิ่งจูงใจ (เงิน 30 บาท หรือ 60 บาท) และในสัปดาห์ที่ 13 และ 16 เราจะสุ่มเวลาเยี่ยมร่วมกับการให้เป่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีสิ่งจูงใจให้ด้วย”
ผลการศึกษาพบว่า ทั้ง 3 กลุ่มสามารถงดสุราได้ตั้งแต่เริ่มการบำบัดจนครบ 12 สัปดาห์ถึง 10% และในช่วง 12-16 สัปดาห์จึงเริ่มเกิดความแตกต่างกันใน 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่งดเหล้าได้มากที่สุดจะเป็นกลุ่มที่ได้แรงจูงใจมูลค่า 60 บาท นพ.ตะวันชัยจึงชี้ให้เห็นว่า เราสามารถประสานงานกับสถานพยาบาลใกล้บ้านอสม. ให้เยี่ยมบ้านและบำบัดโดยวิธีให้แรงจูงใจได้ ซึ่งนี่ถือเป็นแรงจูงใจที่ช่วยให้หยุดดื่มสุราได้ และมีประสิทธิผลในการลดความถี่ในการดื่ม และเพิ่มอัตราการหยุดดื่มเมื่อเวลาผ่านไป
อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยสามารถหยุดดื่มเหล้าได้เลย แม้ว่าจะไม่ได้รับสิ่งจูงใจใดๆ ซึ่งกลุ่มที่หยุดได้โดยสิ้นเชิงคิดเป็น 15% และดื่มไม่เกิน 2-3 ครั้งถึง 24% นพ.ตะวันชัยจึงแนะนำว่า เราอาจจะบำบัดโดยการเยี่ยมบ้านอย่างเดียวก่อน และหากไม่ได้ผลจริงๆ จึงนำเรื่องแรงจูงใจเข้ามาช่วย
“งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เราเห็นความสำคัญของอสม.ในชุมชน เพราะพวกเขาปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยติดสุราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ค้นหาผู้ป่วย ชักชวนผู้ป่วยเข้ารับการบำบัด ให้การบำบัด ตลอดจนดูแลต่อเนื่องในชุมชน แต่อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าเราทุกคนจะต้องมองไกลไปถึงการดูแลผู้ป่วยติดสุราในระยะยาวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยหางาน การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสวัสดิการอื่นๆ ที่ผู้ป่วยพึงได้ เช่น ยากจน หรือพิการป่วยเรื้อรัง ด้วย” นพ.ตะวันชัยทิ้งท้าย
สำรวจมาตรการคัดกรองและบำบัดรักษาผู้ติดสุราในชุมชนก่อนและหลังโควิด-19 – พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตน์ไพบูลย์
“ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า คนดื่มสุรามีตั้งแต่คนที่ไม่ค่อยดื่มจนถึงคนที่ดื่มจนติดรุนแรง ดังนั้น แนวทางการช่วยเหลือของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน จะขึ้นอยู่กับลักษณะพฤติกรรมการดื่มสุรา เช่น ถ้าการดื่มอยู่ในระดับเสี่ยงจะใช้วิธีให้คำแนะนำแบบสั้น ถ้าเริ่มดื่มแบบอันตรายจะเปลี่ยนไปใช้การให้คำปรึกษา และถ้าถึงขั้นติดหรือติดรุนแรงจะเข้าสู่การบำบัด”
พญ.พันธุ์นภา กิตติรัตน์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ กรมสุขภาพจิต เกริ่นนำ พร้อมทั้งขยายความต่อว่า ปัจจุบัน มีข้อเสนอในภาคปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา โดยในระดับการดื่มแบบเสี่ยงและระดับการดื่มแบบอันตรายจะใช้แนวทางการคัดกรองและให้คำปรึกษา ส่วนกรณีที่ดื่มแบบติดและดื่มแบบติดรุนแรงอาจจะไม่ต้องคัดกรอง แต่ใช้แนวทางการบำบัดฟื้นฟูเข้าช่วยได้เลย
นอกจากแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จะมีการใช้ชุดคู่มืออีก 4 ชุด ควบคู่ไปด้วย ดังนี้
คู่มือชุดที่ 1: ใช้สำหรับคัดกรองผู้มาเข้ารับบริการทุกคนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาการดื่มสุรา เช่น อุบัติเหตุ โรคเรื้อรัง หรือโรคทางกายสัมพันธ์กับการดื่มสุรา เช่น ผู้ป่วยตับแข็ง หรือกระเพาะอักเสบ คู่มือชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาผู้มีปัญหาการดื่มสุราในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับบริการสุขภาพทั่วไป เพื่อให้เขาได้รับการบำบัดแบบสั้นตามความรุนแรง
คู่มือชุดที่ 2: ใช้สำหรับผู้ติดสุรา หรือผู้ดื่มแบบอันตรายที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยมีผู้ให้บริการเป็นจิตแพทย์ แพทย์ และบุคลากรสุขภาพที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด โดยจะใช้แบบประเมินและแบบบันทึกต่างๆ เช่น แบบบันทึกติดตามการดื่มรายบุคคลในผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุราที่คลินิกบำบัดสุรา ฯลฯ คู่มือชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และรักษาภาวะถอนพิษสุราในผู้ติดสุรา และช่วยให้ผู้ติดสุราลด ละ หรือเลิกดื่มได้ ตลอดจนป้องกันการกลับไปดื่มหรือมีปัญหาซ้ำซ้อน
คู่มือชุดที่ 3: ใช้สำหรับผู้มีปัญหาการดื่มสุราในระดับความเสี่ยงสูงหรือผู้ติดสุราในชุมชน หรือผู้ติดสุราที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์แล้วส่งต่อกลับไปยังชุมชนและญาติหรือผู้ดูแล โดยผู้ให้บริการคือบุคลากรสุขภาพทุกระดับปฏิบัติงาน ขั้นนี้จะมีคู่มือโปรแกรมเป็นหนังสือ ‘ใกล้บ้านสมานใจ’ จำนวน 4 เล่ม โดยคู่มือชุดนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้มีปัญหาการดื่มสุราในระดับความเสี่ยงสูงหรือผู้ที่ผ่านการบำบัดไปแล้วไม่ให้กลับไปทำซ้ำ รวมถึงช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาซ้ำซ้อนหรือไม่ยอมเข้ารับบริการสุขภาพได้รับการดูแลในเบื้องต้น
และคู่มือชุดที่ 4: เป็นชุดที่กลุ่มอสม. จะเป็นผู้ดำเนินงานหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยใช้หลักการที่ประกอบด้วยการให้ความรู้ทั่วไป และสร้างความตระหนักให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาการดื่มสุราในชุมชน การให้คำแนะนำ ลด ละ เลิก ดื่มสุราโดยการสร้างแรงจูงใจต่อผู้ติดสุรา มีการเฝ้าระวังและส่งต่อผู้ที่มีปัญหารุนแรงหรือมีภาวะฉุกเฉิน รวมถึงติดตามดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราในชุมชนอย่างต่อเนื่องร่วมกับบุคลากรสุขภาพ
พญ.พันธุ์นภา ปิดท้ายว่า ในสภาวะปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการติดตามดูแลผู้ป่วยติดสุราในหลาย ๆ วิธี ได้แก่
1) การโทรถามตามเยี่ยมด้วยเป็นระยะเวลา 20 ถึง 30 นาทีต่อครั้ง โดยใช้การประเมิน ซักถามบันทึกร่วมกับการให้คำแนะนำ และการฝึกทักษะการใช้ชีวิต
2) การจ่ายยาแบบไดร์ฟทรู (Drive Thru)
3) การรับยาโรงพยาบาลใกล้บ้านและรับที่ร้านขายยาใกล้บ้าน
4) การรับยาทางทางไปรษณีย์
5) การพบแพทย์ตามนัด
6) การออกไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดสุราในกรณีที่จำเป็น
7) การมอบหมายให้ผู้ป่วยและญาติรายงานตัวผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
8) มีการใช้เครือข่ายโดย อสม. ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง
3 อาวุธ (ไม่) ลับบำบัดผู้ติดสุราในชุมชน – ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา
ในการบำบัดผู้ติดสุรานั้น หนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ ขั้นตอน ‘หลัง’ การบำบัด เพราะหากผู้ติดสุราเข้ารับการบำบัด แต่ไม่ได้รับการดูแลที่ดี ประกอบกับเจอสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งยั่วยุรอบตัว ก็อาจจะทำให้พวกเขาหวนกลับไปดื่มซ้ำอีก จึงจำเป็นจะต้องมีนวัตกรรมเพื่อเป็นตัวช่วยประคับประคอง ไม่ให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดสุราแล้วหวนกลับไปดื่มซ้ำ
หนึ่งในนวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยหลังการบำบัดสุราคือ ‘ใกล้บ้านสมานใจ โทรถามตามเยี่ยม’ ที่จะช่วยประคับประคองให้ผู้ติดสุราที่ผ่านการบำบัดแล้วให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมไปถึงช่วยให้ผู้ป่วยลด ละ เลิกสุราได้อย่างแท้จริงโดยไม่หวนกลับไปดื่มซ้ำ โดยอาศัยการลงพื้นที่และเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรด้านสุขภาพภายในชุมชน
ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา อาจารย์กลุ่มวิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวนำว่า ผู้ติดสุราที่มีปัญหาเรื่องการดื่มอย่างหนักและต้องเข้ารับการรักษาซ้ำๆ ถือเป็นวิกฤตระดับชาติ เพราะหากมองภายใต้กรอบของการดูแลเชิงรุกจะพบว่า ผู้ป่วยเหล่านี้มีปัญหาด้านอื่นๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการที่พวกเขาไม่ได้รับการส่งเสริมสุขภาพที่ดีอย่างเพียงพอ จึงเป็นที่มาของการเข้าไปดูแลเชิงรุกภายในชุมชน และเป็นจุดเริ่มต้นของ 3 โปรแกรม คือ ใกล้บ้าน สมานใจ โทรถาม ตามเยี่ยม โทรถาม ตามเยี่ยม (แบบสั้น)
ทั้งนี้ โปรแกรมดังกล่าวจะรวมเรื่องการบำบัดดูแลเข้าไปด้วย ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน 9 องค์ประกอบ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อบำบัดดูแล ได้แก่
1) การดูแล ประกอบด้วย เรื่องยา การให้คำปรึกษา และการเข้ารับบริการสุขภาพ
2) การฟื้นฟูสภาพ จะเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน
3) การบริการสนับสนุนและประคับประคอง ประกอบด้วยเรื่องโอกาสในการทำงาน การจัดการเอกสารต่างๆ การช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัย และการจัดการค่าใช้จ่าย
“ลักษณะของโปรแกรม ‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ เป็นการบำบัดดูแลที่บ้านของผู้ติดสุรา โดยประกอบไปด้วยการประเมิน สังเกต ซักถาม และบันทึกในแบบบันทึกร่วมกับการให้ความรู้ คำแนะนำ หรือการฝึกทักษะ ใช้เอกสารและคู่มือตามโปรแกรม 4 เล่ม”
“จำนวนครั้งในการบำบัดดูแลที่บ้านทั้งหมด 5 ครั้ง จะแบ่งเป็นการลงพื้นที่ในแต่ละสัปดาห์ 1 ครั้ง จนครบทั้งหมด 5 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 60-70 นาที และมีระยะติดตามต่อเนื่องหลังสิ้นสุดโปรแกรม 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 12 เดือน”
นอกจากนี้ ดร.หรรษายังอธิบายเพิ่มว่า บุคลากรสุขภาพจะทำงาน 5 ขั้นตอน เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยหลังได้รับการบำบัดแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ (1) คัดกรอง ค้นหาผู้ติดสุราที่มีปัญหาซับซ้อนรุนแรงและเรื้อรังหลังการบำบัด; (2) เตรียมและตกลงการบริการ บอกวัตถุประสงค์และมอบคู่มือแก่ผู้ติดสุราและญาติ; (3) ทำตารางนัดหมาย 10 ครั้งต่อ 1 ปี และตกลงกันเรื่องช่องทางการสื่อสาร; (4) ลงพื้นที่ ทำการบำบัดดูแลตามคู่มือบุคลากร และบันทึกในแบบบันทึกใกล้บ้าน สมานใจ และ (5) ประเมินประสิทธิผล การเปลี่ยนแปลงการดื่ม พฤติกรรมจากแบบบันทึกและแบบสอบถาม
สำหรับผลของโปรแกรมใกล้บ้าน สมานใจ พบว่า ปี 2553-2556 ซึ่งมีการพัฒนาโปรแกรมต้นแบบและศึกษาประสิทธิผลทั่วประเทศ ผลปรากฎว่ากลุ่มทดลองของทุกภาคไม่กลับมาดื่ม ร้อยละ 29.17 ถึง 35.00 และลดปริมาณการดื่มลง (รวมถึงผู้ที่สามารถเลิกดื่มได้) ร้อยละ 90.00 ถึง 96.66 ส่วนคงดื่มเท่าเดิมร้อยละ 4.16 และเพิ่มปริมาณการดื่มร้อยละ 3.33 ถึง 10.00
ปัจจุบันนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุโปรแกรมใกล้บ้าน สมานใจ ให้เป็นกระบวนการช่วยเหลือผู้ติดสุราคู่มือชุดที่ 3 เพื่อนำไปใช้ดูแลและประคับประคองหลังจากผู้ป่วยถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลต่อไป
จากโปรแกรมใกล้บ้าน สมานใจ พัฒนาต่อยอดเป็นโปรแกรม ‘โทรถาม ตามเยี่ยม’ ซึ่งเปลี่ยนจากการลงพื้นที่เป็นการคุยผ่านทางโทรศัพท์แทน โดยจำนวนครั้งในการบำบัดดูแลทางโทรศัพท์มีทั้งหมด 5 ครั้ง แบ่งการโทรสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนครบทั้งหมด 5 ครั้ง ใช้เวลาแต่ละครั้ง 60-70 นาที มีระยะติดตามต่อเนื่องหลังสิ้นสุดโปรแกรม 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และโทรถึงญาติ 2 ครั้ง
ทั้งนี้ โปรแกรมโทรถาม ตามเยี่ยม มี 5 ขั้นตอนสุขภาพที่ดำเนินการโดยบุคลากรสุขภาพเช่นเดียวกับโปรแกรมใกล้บ้าน สมานใจ ดังนี้
1. คัดกรอง ค้นหาผู้ติดสุราที่มีปัญหาซับซ้อนรุนแรงและเรื้อรังหลังการบำบัด
2. เตรียมและตกลงการบริการ บอกวัตถุประสงค์และมอบคู่มือแก่ผู้ติดสุราและญาติ
3. นัดหมาย ทำตารางนัดหมาย 10 ครั้ง ต่อ 6 เดือน ตกลงเรื่องช่องทางการสื่อสาร
4. ทำการบำบัดดูแลตามคู่มือบุคลากร และบันทึกในแบบบันทึกโทรถาม ตามเยี่ยม
5. ประเมินประสิทธิผล การเปลี่ยนแปลงการดื่ม พฤติกรรมจากแบบบันทึกและแบบสอบถาม
“จากการปฏิบัติตามโปรแกรมโทรถาม ตามเยี่ยม พบว่า ปี 2555-2557 ซึ่งมีการพัฒนาโปรแกรมต้นแบบและศึกษาประสิทธิผลทั่วประเทศ และมีการติดตาม 6 เดือน พฤติกรรมการดื่มหนักลดลงจากร้อยละ 23.76 เป็นร้อยละ 7.78 ต่อเดือน วันหยุดดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.57 เป็นร้อยละ 21.24 ต่อเดือน และการกลับมารักษาซ้ำลดลง”
“เรายังมีการพัฒนาโปรแกรมที่ 3 คือโปรแกรม ‘โทรถาม ตามเยี่ยมแบบสั้น’ ซึ่งใช้การโทรศัพท์ติดตามเหมือนโปรแกรมโทรถาม ตามเยี่ยม แต่จะใช้ระยะเวลาโทรที่สั้นกว่า และใช้คู่มือ 1 เล่ม จาก 4 เล่ม”
สำหรับประสิทธิภาพของโปรแกรมโทรถาม ตามเยี่ยมแบบสั้นนั้น พบว่า ในปี 2557-2560 ที่มีการพัฒนาโปรแกรมต้นแบบและศึกษาประสิทธิผลทั่วประเทศ พบว่า จากการติดตาม 6 เดือน พฤติกรรมการดื่มลดลงจาก 23.76 เป็น 7.78 ต่อเดือน วันหยุดดามเพิ่มขึ้นจาก 3.57 เป็น 21.24 ต่อเดือน และการกลับมารักษาซ้ำลดลง”
ดร.หรรษาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า โปรแกรมเชิงรุกในชุมชนทั้ง 3 โปรแกรมที่กล่าวมาข้างต้น สามารถช่วยบรรเทาปัญหาผู้ติดเหล้าให้เบาบางลง และทำให้หลายๆ ครอบครัวได้มีโอกาสกลับมามีความสุขอีกครั้งหนึ่ง
โควิด-19: โรคระบาด และโอกาสในการช่วยเหลือผู้ติดสุรา
“จังหวะนี้เป็นจังหวะที่ดีที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือคนที่ติดสุราได้” นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในช่วงสุดท้ายของการสัมมนา โดยเขาสรุปว่า รูปแบบที่คาดว่าจะเหมาะสมในการค้นหาและดูแลผู้ติดสุราในชุมชนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ
1. มีการไปเยี่ยมบ้าน เพื่อชักชวนบุคคลที่ติดสุราในชุมชนให้เลิกดื่ม เพราะมีการรายงานจากการศึกษาหลายชิ้นชี้ชัดว่า ถ้ามีกระบวนการเยี่ยมให้กำลังใจ จะช่วยให้คนสามารถลด ละ เลิกได้ ซึ่งจุดนี้ต้องพึ่งการให้ความร่วมมือของภาคีต่างๆ เช่น หน่วยงานของสาธารณสุข อสม. และภาคประชาชน
2. ระบบการบริการสาธารณสุขในทุกพื้นที่จะต้องส่งเสริมให้มีบริการที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อจะได้รับการส่งต่อจากองค์ประกอบด้านแรก โดยพยายามใช้ทุกโอกาสที่มีเพื่อช่วยให้คนเลิกติดสุรา
3. สร้างบรรยากาศภาพรวมของสังคมเพื่อชักชวนว่าการลด ละ เลิกสุราเป็นเรื่องที่ดี หากใครที่สนใจต้องการลด ละ เลิกสุรา สามารถใช้บริการต่างๆ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้แล้ว เพื่อที่ประชาชนจะนำไปเลือกใช้ได้อย่างง่ายที่สุด
ขณะที่พญ.พันธุ์นภาได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด และมีการห้ามขายสุรานั้น หากเราใช้วิธีขู่ผู้ติดสุราที่ต้องดื่มในปริมาณมากว่า จะทำให้ติดโรค อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีหรือได้ผลสักเท่าไหร่
“เราเห็นแล้วว่า ช่วงที่ภาครัฐงดขายสุรา มีคนจำนวนมากงดดื่มสุรา ภาครัฐจึงอาจจะใช้ประโยชน์ตรงนี้ โดยชมเชยพวกเขา และแสดงให้พวกเขาเห็นว่า พวกเขาไม่ดื่มสุราก็สามารถอยู่ได้ หรืออาจจะพูดให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยเพิ่มมิติทางเศรษฐกิจเข้าไปด้วย เช่น ถ้าเลิกดื่มสุราตลอดเดือนเมษายนจะมีเงินอยู่ในกระเป๋า 3000 บาท”
ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะจบลงเมื่อไหร่ และทางออกเรื่องนี้จะเป็นไปทางทิศทางไหน แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้เห็นความร่วมมือเล็กๆ ในหลายภาคส่วนของสังคมเพื่อหารูปแบบการดูแลผู้ติดสุรา ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์แก่พวกเขาต่อไป
เรื่องและภาพ : ทีมงาน Alcohol Rhythm