ในยุคที่ความรู้เรื่องสุขภาพ (แบบผิดๆ) กระจายไปไวกว่าไฟลามทุ่ง รวมถึงมีเทคโนโลยีเข้ามา disrupt ทำให้แต่ละองค์กรต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ‘มูลนิธิหมอชาวบ้าน’ เป็นหนึ่งองค์กรที่ปรับตัวให้เข้ากับกระแสเทคโนโลยีได้อย่างงดงาม พร้อมทั้งยืนหยัดให้ความรู้สไตล์หมอชาวบ้าน เหมือนที่ทำมาตลอดสี่ทศวรรษ
Alcohol Rhythm ชวนอ่านทัศนะบางส่วนของ ผศ.เนตรนภา ขุมทอง เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องราวความเป็นมาและการเดินทางของหมอชาวบ้าน รวมถึงการคุยสไตล์เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้าเกี่ยวกับเรื่อง ‘เหล้า’ ในมุมมองของหมอชาวบ้าน ซึ่งเนตรนภามองว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเรื่องระบบสาธารณสุข และรัฐควรจะต้อง ‘ลงทุน’ ในเรื่องสุขภาพของประชาชน
อ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.เนตรนภา ขุมทอง ฉบับเต็มได้ ที่นี่
:: มองปัญหาแบบเชื่อมโยง ::
คุณมองว่าแคมเปญการสื่อสารเรื่องสุรามีปัญหาอะไรบ้าง
จริงๆ เราเข้าใจนะว่า ในการรณรงค์ต้องหาเรื่องที่จะสื่อไปถึงสาธารณะวงกว้างได้ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์หรือโซเชียลมีเดีย พอเป็นในบริบทของเหล้า เราก็จะเห็นการจับกลุ่มคนจนเป็นหลัก เพราะมันมองง่าย รณรงค์ง่าย ทั้งที่จริงๆ มีกลุ่มอื่นอีก
เวลาเรามองว่าคนจนจนเพราะดื่มเหล้า เราไม่ได้พยายามมองเขาแบบเข้าใจ มองแต่ว่าคนนี้จน เครียด ไม่มีการศึกษา เลยไปนั่งดื่มเหล้า แล้วก็วนเวียนไปแบบนี้แหละ แต่เราลงพื้นที่ชนบทและเห็นปัญหาอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดแบบนี้เท่าไหร่ เพราะมันทำให้ภาพของคนจนกลายเป็นคนไม่รู้เรื่องโทษของสุรา จนแล้วไม่รู้จักใช้เงิน เครียดแล้วหาทางออกไม่ได้จนต้องดื่มเหล้า แต่จริงๆ แล้ว เป็นเพราะเราไม่สามารถให้การศึกษากับเขาเพียงพอหรือเปล่า และคนจนไม่มีอิสระในการเลือก (freedom of choice) คุณไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมระบบทั้งสังคมทำให้เขาเป็นแบบนี้ ระบบเศรษฐกิจและการศึกษาล้วนทำให้คนจนเป็นแบบนี้
ถ้าลองมองแบบเชื่อมโยงทุกมิติว่าคนดื่มเหล้าเพราะอะไร พยายามทำความเข้าใจคนแต่ละกลุ่ม แคมเปญที่ออกมาก็อาจจะเป็นความเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นคนลดลงและทำให้เข้าไม่ถึงเขา เวลาเราสื่อสารต่อสาธารณะต้องมองให้เข้าใจบริบทและเชื่อมโยงกันได้ พอเข้าใจบริบทแล้วก็จะสื่อสารได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
:: หยุดกล่าวโทษ – ทำความเข้าใจ ::
ในวงการแพทย์ เป็นไปได้ไหมว่า แพทย์บางคนยังมีอคติกับผู้ติดสุราเพราะมองว่า เขาทำลายสุขภาพตนเอง ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะแนะนำให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขมีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) คนติดเหล้าได้อย่างไร
ถ้าเราจะแก้ หมอและบุคลากรสาธารณสุขต้องหยุดโทษคนไข้ก่อนว่า การดื่มเป็นเรื่องของคุณ คุณต้องรับผิดชอบ แต่ต้องพยายามเข้าใจว่าเขาดื่มเพราะอะไร
ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ออกนโยบายเหมือนกันว่าให้ใช้ตามแบบองค์การอนามัยโลก (WHO) คือต้องเข้าใจคนดื่มเหล้า เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกว่าเขาดื่มทำไม ให้กำลังใจแม้เขาหยุดดื่มไปแล้วกลับมาดื่มซ้ำ และต้องทำงานร่วมกับครอบครัวด้วย เพราะถ้าหมอเข้าใจฝ่ายเดียว แต่ครอบครัวไม่เข้าใจก็ไม่สำเร็จ
แต่ในบางพื้นที่ชนบทอาจไม่ได้มีหมอตลอดเวลา จึงต้องมีพยาบาลหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยดูแล ซึ่งพวกเขาจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจให้มาก เข้าใจคนที่ดื่มว่าเป็นอย่างไร มีบริบทอะไร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนนะ เพราะคนรวยติดเหล้าก็มีเยอะอยู่
:: รัฐต้องลงทุนเรื่องสุขภาพของประชาชน ::
เป็นไปได้ไหมว่า นี่เป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขด้วย เพราะคนที่ทำงานเกี่ยวกับสุรายังมีอยู่ไม่เพียงพอ
ใช่ค่ะ เราลงทุนตรงนี้น้อย จริงๆ รัฐต้องลงทุนเรื่องสุขภาพของประชาชน อย่างเราไปดูงบประมาณการซื้ออาวุธ จะเห็นว่ามีมากแบบมหาศาลเลย แต่ปัจจุบันอาวุธอาจจะไม่ได้สำคัญขนาดนั้นแล้ว ทำไมเราไม่เอาเงินมาลงทุนด้านการศึกษา สุขภาพ ทำให้เต็มที่ ทำให้คนพึ่งตนเองได้ ทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้นมา
เรื่องการสื่อสารก็สำคัญ สมมติว่าคนป่วยยังไม่พร้อมหรือไม่อยากไปพบแพทย์ เขาก็ต้องดูว่าจะแก้ปัญหาเองก่อนได้อย่างไร และถึงจะเห็นว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอะไร เราต้องมีทางเลือกให้ประชาชน ไม่ใช่มีแต่ระบบบริการที่ยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคนอยู่ เช่น ระบบสายด่วน (hotline) ที่ยังไม่มากพอที่จะให้คนเข้าถึงได้ กรณีที่ยังไม่พร้อมพบแพทย์
:: เชื่อมั่นในมนุษย์ ::
ถ้าคิดจะเลิกเหล้า อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้คนที่คิดว่าจะเลิกเหล้ามีกำลังใจในการเลิกหรือเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนได้จริง
หมอชาวบ้านเคยจัดโครงการหนึ่ง โดยเรานิมนต์พระมารูปหนึ่ง ให้ท่านช่วยพูดกับคนมีฐานะยากจนในเมือง เป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ คือเป็นความพยายามในการเสริมพลังให้พวกเขา สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและทำให้มีคนเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองได้คือ พระท่านตั้งคำถามว่า เราเคยดูแลร่างกายของตัวเองไหม เคยโอบกอดร่างกายตัวเองบ้างหรือเปล่า การดูแลร่างกายในที่นี้คือดูว่าที่ผ่านมาเราทานอาหารอย่างไร ทำให้ร่างกายดีไหม เราดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่หรือเปล่า ถ้าเรายังทำแบบนี้คือเรายังรักตัวเองไม่พอ และสิ่งที่พระท่านให้ทำคือ การโอบกอดร่างกายตัวเองด้วยความรัก
ปรากฏว่าอีกเดือนหนึ่ง มีผู้หญิงคนหนึ่งกลับมาบอกว่า เชาเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดแล้วนะ เพราะพระท่านบอกว่าเราต้องรักตัวเอง เขาเลยพยายามเลิกจนสำเร็จทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสำเร็จ แต่คำพูดนั้นมันฝังลึกเข้าไปในใจเลยว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้รักตัวเองเลยหรือเปล่า
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าการสื่อสารกระทบไปถึงจิตใจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง อย่างการนำพระอาจารย์มาพูดก็เพราะเราศึกษาบริบทแล้วว่า คนกลุ่มนี้ชอบตักบาตรทำบุญ แสดงว่าพระก็มีอิทธิพลสูง อย่างที่เราเห็นว่ามันได้ผลและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราระบุได้ว่าเขาศรัทธาหรือเชื่อมั่นเรื่องอะไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เราก่อตั้งหมอชาวบ้านมา 40 กว่าปี เราต้องเชื่อมั่นในมนุษย์ก่อนว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เป็นเหมือนการสร้าง self-esteem ให้เขา เพราะที่ผ่านมา พวกเขาอาจไม่เคยเห็นคุณค่าหรือไม่ได้รักตัวเองเลย ทั้งที่คนที่เป็นเพื่อนที่ดีสุดของคุณก็คือตัวคุณเองนั่นแหละ
:: จะมีสุขภาพที่ดีต้องลงทุนในทุกด้าน ::
เท่ากับว่า ถ้าอยากให้ประชาชนสุขภาพดี รัฐต้องลงทุนเรื่องสุขภาพด้วย
ใช่ค่ะ ต้องลงทุนทั้งสุขภาพในแง่การเจ็บป่วยของประชาชนและลงทุนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ตอนนี้เรามี สสส. แล้ว แต่มันยังไม่พอ เพราะเราต้องดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนป่วย เรื่องอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ จึงสำคัญมากที่ประชาชนต้องหันมาดูแลตนเอง โดยมีหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนมาสนับสนุน
ตอนนี้คนจนแทบเข้าถึงอะไรไม่ได้เลย สมมติอยากดูแลสุขภาพด้วยการทานอาหารคลีนก็ต้องจ่ายเงินเยอะอีก เราจึงต้องสนับสนุนเรื่องนี้ให้มากขึ้น อย่างที่เวียดนาม รัฐบาลสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเกษตรอินทรีย์และทำวิจัยเอง เปรียบเทียบว่าปุ๋ยอย่างนี้ ปลูกพืชพันธุ์นี้ ผลผลิตจะเป็นอย่างไร ซึ่งบ้านเราก็มีเกษตรกรเยอะ มีทรัพยากรดี แต่รัฐบาลกลับไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ
ทุกอย่างเชื่อมโยงกันนะคะ เรื่องสุขภาพไม่สามารถอยู่โดดๆ ได้ แต่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และบริบททางนโยบายด้วย ถ้าคุณดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเองก็อาจจะไม่ต้องพึ่งยา เพราะร่างกายแข็งแรงแล้ว และปัญหาเรื่องการดื่มเหล้าหรือติดเหล้าก็น่าจะลดน้อยลงเช่นกัน
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm