Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านทัศนะของ อาจารย์ นายแพทย์ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับแอลกอฮอล์และการบำบัดแอลกอฮอล์
เพราะคนส่วนมากเข้าใจว่า การติดแอลกอฮอล์เป็นพฤติกรรม หากจะเลิกดื่ม ก็ต้องปรับพฤติกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว การติดแอลกอฮอล์เป็นโรคชนิดหนึ่ง และมีความซับซ้อนกว่าที่คุณเห็น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไข้และคนใกล้ชิดจำเป็นต้อง ‘เข้าใจ’ เพื่อจะได้เดินบนถนนสายเลิกเหล้าได้ตลอดรอดฝั่ง
อ่านทัศนะของอาจารย์ นายแพทย์ ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร เกี่ยวกับการบำบัดแอลกอฮอล์ได้ด้านล่างนี้ และอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่
:: ดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม (?) ::
ถ้าไม่นับเรื่องอาชีพที่จำเป็นต้องดื่ม ยังมีหลายคนในสังคมที่กลัวว่า ถ้าไม่ดื่มแล้วจะเข้าสังคมไม่ได้ เราจะมีวิธีพูด หรือช่วยปรับเปลี่ยนความคิดของเขาได้อย่างไร
ลองตั้งคำถามชวนให้เขาคิดว่า ถ้าไม่ดื่มจะเข้าสังคมไม่ได้จริงๆ หรือมีอะไรบอกแบบนั้น การจะเข้าสังคมได้หรือไม่ได้ คุณวัดหรือดูยังไง แล้วมีวิธีอื่นในการเข้าสังคมอีกไหมที่ไม่ต้องใช้แอลกอฮอล์ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้เข้าสังคมหรือให้คุยสนุกได้ หลายคนที่พูดว่า ไม่ดื่มแล้วจะเข้าสังคมไม่ได้ เหมือนจะเป็นผู้ที่ใช้แอลกอฮอล์เป็น safety behaviour มากกว่า หรือบางคนเป็นโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเข้าสังคม (social anxiety) ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะใช้ยาในการรักษาโดยตรง หรือต้องนำวิธีการบำบัดแบบ CBT เข้ามาช่วยด้วย
:: แพ้ทางแอลกอฮอล์ ::
ถ้าบอกว่าการติดเหล้าคือการที่สมองติดเหล้า แล้วเราต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะเลิกเหล้าได้อย่างเด็ดขาด
ไม่มีคำว่าเลิกได้อย่างเด็ดขาดสำหรับคนติดแอลกอฮอล์ คือติดแล้วติดเลย เพราะสมองเคยชินกับแอลกอฮอล์ไปแล้ว แต่ถ้าเขาสามารถหยุดดื่มได้เกิน 1 ปี ทางการแพทย์จะถือว่าเป็นคนที่สามารถเลิกได้ แต่ไม่ได้บอกว่าเลิกได้เด็ดขาดหรือถาวร เพราะหากคนที่เคยติดมาแล้วเผลอไปจิบแอลกอฮอล์เข้า จะมีความเสี่ยงต่อการวนกลับมาติดซ้ำมากกว่าคนทั่วไป คือแค่จิบนิดเดียวจะติดลมได้ง่ายมาก จะบอกว่าเขาแพ้ทางแอลกอฮอล์ก็ได้
:: รักษา = วิ่งมาราธอน ::
ถ้าคนไข้เข้ารับการบำบัดครั้งแรกแล้วไม่ได้ผล การกลับมาบำบัดซ้ำจะทำให้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้นไหม
ยิ่งอยู่ในการรักษานานเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ถ้าคุยกันครั้งแรก คุยอย่างไรก็คุยไม่จบ โดยทั่วไป ถ้าเป็นการรักษาครั้งแรก เราจะมีการติดตามนัดอยู่แล้ว ช่วง 2-3 เดือนแรกจะนัดเขาถี่หน่อย อาจเป็นทุกอาทิตย์หรือทุกสองอาทิตย์ เพราะบางทีคนไข้คุมตัวเองไม่ได้ การมาเจอหมอจึงเหมือนกับเป็นการสัญญากันว่าจะหยุด ให้หมอช่วยควบคุมเขา พอเขาหยุดดื่มได้นานขึ้น เราก็จะค่อยๆ ออกห่างจากเขาทีละอาทิตย์ เมื่อมั่นใจว่า เขาแทบไม่ดื่มเลยใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราถึงนัดห่างออกไปเรื่อยๆ
การรักษาคนติดแอลกอฮอล์เหมือนการวิ่งมาราธอน คือเริ่มต้นด้วยการวิ่งไปด้วยกันช้าๆ แล้วพอคนไข้เริ่มมั่นใจมากขึ้น เราถึงเริ่มปล่อยให้เขาวิ่งคนเดียว จนไปถึงเส้นชัยที่สักประมาณปีหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือห้ามหยุดวิ่งเด็ดขาด คือเขาต้องควบคุมตัวเองไม่ให้ดื่มเหล้าโดยใช้วิธีต่างๆ ที่ช่วยกันคิด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อชดเชยความสุขจากการดื่ม รวมถึงใช้ยาช่วยลดอาการอยากดื่มร่วมด้วย และคนไข้ต้องบอกตัวเองเสมอว่าเขาแพ้ทางแอลกอฮอล์ไปแล้ว จึงไม่ควรจะกลับไปลองมันอีก
:: คุยกับแอลกอฮอล์ ::
สมมติว่าเราต้องเจอสถานการณ์ที่คนในบ้านติดเหล้า กลับมาบ้านก็โวยวายอาละวาดใส่ หรือด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่พอตอนเช้า สร่างเมามาก็พูดจาดีเหมือนเดิม ถ้าเป็นเช่นนี้ เราควรจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร
ถ้าเราคุยกับคนเมา ก็เหมือนเรากำลังคุยกับแอลกอฮอล์ ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก บางที เราอาจจะลองอัดคลิปตอนเขาเมาเอาไว้ เพราะตอนเมาเขาไม่รู้ตัวหรอก มารู้ตัวตอนเช้าหลังสร่างเมาแล้ว เราก็เอาคลิปที่อัดไว้ให้เขาดูว่า เขาเป็นถึงขนาดนี้ตอนเมา เขาจะได้มีความตระหนักรู้มากขึ้น และอาจช่วยให้เขาตัดสินใจที่จะเบรกการดื่มได้
:: มองให้เห็นปัญหา ::
เท่ากับว่า ถ้าจะพาคนติดเหล้ามาบำบัด เราควรจะให้เขารู้ตัวก่อนถึงพามาจึงจะได้ผลมากกว่า
มีบ้างที่โดนบังคับมา แต่โอกาสได้ผลจะน้อยกว่าการที่คนดื่มเริ่มเห็นปัญหา และสมัครใจมาเอง ลองชี้ให้เขาเห็นปัญหาดู จะเป็นปัญหาเล็กน้อยก็ได้ เช่น เริ่มนอนไม่หลับ ปวดท้องบ่อยๆ การงานมีปัญหา พอเห็นแบบนี้เขาอาจจะยอมมาบำบัดมากขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว คนเราต้องเริ่มเห็นปัญหาก่อนถึงจะรู้ตัว แต่ถ้ายังไม่รู้ตัวต่อไปเรื่อยๆ ก็จะคิดว่า ไม่เป็นอะไรหรอก แต่บางที เราก็มองปัญหาของตัวเองไม่ออกใช่ไหมล่ะ คนอื่นจึงอาจจะเข้ามาช่วยให้มองเห็นปัญหาได้ โดยอาจจะเริ่มจากการทัก ชวนคิดอะไรเล็กๆ น้อยๆ หรือแสดงหลักฐานบางอย่างให้เห็น และเมื่อคนเรารู้ตัวและตระหนักถึงปัญหาได้แล้ว ก็จะนำไปสู่การอยากแก้ไขในที่สุด
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm