10 เรื่องเหล้ายอดนิยม 2019

December 24, 2019


จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในพ.ศ.2560 ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 55.9 ล้านคน ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 15.9 ล้านคน และดื่มสม่ำเสมอจำนวน 6.98 ล้านคน แต่คนที่เข้าถึงระบบการบำบัดรักษากลับมีไม่ถึง 7% จะเห็นว่า ตัวเลขคนติดแอลกอฮอล์ค่อนข้างสูง แต่คนที่สามารถเข้าถึงบริการบำบัดรักษากลับสวนทางกัน คือน้อยจนน่าใจหาย

สาเหตุของการเข้าไม่ถึงการบำบัดรักษามีหลากหลาย ไล่เรียงตั้งแต่ความไม่รู้ – ไม่รู้ว่าการติดแอลกอฮอล์เป็นโรค หรือมองว่าเหล้าไม่ใช่ปัญหา ความไม่เข้าใจ – ไม่เข้าใจถึงพิษภัยของสุรา หรือหลายคนอาจจะอยากเข้าบำบัด แต่ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มอย่างไร หรือควรจะเริ่มที่ไหน จึงยังพ่ายแพ้ต่อคลื่นความเมามายอยู่ร่ำไป

ในช่วงปีที่ผ่านมา โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับ The 101.world ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมทำโครงการ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า เพื่อมุ่งสื่อสารถึงญาติ คนใกล้ชิด และผู้ดื่ม โดยหวังว่าจะช่วยลดช่องว่างการเข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษาอาการติดสุรา

ผลงานในโครงการนั้นมีหลากเนื้อหา หลายหมวด ไล่เรียงตั้งแต่การให้ความรู้ง่ายๆ แบบแอลกอฮอล์ 101 เรื่องเหล้าสร้างแรงบันดาลใจ การดูแลผู้ติดเหล้า และวิธีการใหม่ๆ เพื่อเลิกเหล้า รวมไปถึงชุดเครื่องมือเพื่อผู้ติดสุรา ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์

ต่อจากนี้คือการนำเสนอ 10 เรื่องเหล้ายอดนิยม ประจำปี 2019 เพื่อเป็นการทบทวนผลงาน และให้คุณได้ย้อนดูการเดินทางในปีที่ผ่านมากันอีกครั้ง และเราจะมาร่วมก้าวเข้าสู่ปี 2020 ไปด้วยกันอย่างแข็งแรง!

 

อินโฟกราฟิก: 10 เรื่องเหล้าทั่วไทย ที่คุณอาจไม่เคยรู้

 

รู้หรือไม่ ประเทศไทยมีนักดื่มทั้งหมดกี่คน?

แล้วรู้หรือไม่ ว่าคนวัยไหนดื่มสุรามากที่สุด?

ยังไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่วันนี้คุณจะได้รู้แล้ว เพราะ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณตะลอนทั่วไทย ดู 10 เรื่องเหล้าที่คุณอาจไม่เคยรู้ ไล่เรียงตั้งแต่จำนวนนักดื่มในประเทศไทย ช่วงอายุที่มักดื่มสุรา ไปจนถึงสาเหตุหลัก ว่าอะไรทำให้คนตัดสินใจเลิกเหล้า ผ่านทางอินโฟกราฟิกสดใส ย่อยง่าย งานนี้จะเก็บไว้เป็นคลังความรู้ก็เยี่ยม หรือเอาไว้ทายขำๆ กับเพื่อนตอนกินข้าวเย็นนี้ก็ดูดีไม่หยอก

 

‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ : คุยกับ ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา ว่าด้วยนวัตกรรมบำบัดคนติดสุรา

 

ปัญหาการติดสุรานับเป็นปัญหาที่รุนแรงปัญหาหนึ่งในสังคมไทย โดยในแต่ละปี มีผู้ที่ติดสุราและต้องเข้ารับการบำบัดเป็นจำนวนมาก แต่การบำบัดนั้นยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพราะผู้เข้ารับการบำบัดมีโอกาสที่จะกลับไปติดสุราอีก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องมือเพื่อประคับประคองพวกเขาให้ไม่หวนกลับไปติดสุราซ้ำ

หนึ่งในโปรแกรมที่ช่วยดูแลผู้ติดสุราหลังเข้ารับการบำบัดให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และสามารถลด ละ เลิก สุราได้จริง คือโปรแกรม ‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ ที่มีหัวหน้าโครงการคือ ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา ซึ่งแม้จะเริ่มต้นใช้โปรแกรมนี้ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ปัจจุบัน โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ใช้โปรแกรมนี้เป็นหนึ่งในชุดเครื่องมือสำหรับบำบัดผู้ติดสุราหลังจำหน่ายออกจากสถานพยาบาล ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข

“โรคติดสุราไม่เหมือนโรคทั่วไปที่รักษาแล้วหายขาด แต่โรคนี้มันมีทั้งติดทางกาย และติดทางใจ จึงเป็นที่มาที่ไปว่า จะทำอย่างไรให้คนที่เข้ามารักษาอาการทางกายแล้ว กลับออกไปใช้ชีวิตในชุมชนได้นานขึ้น โดยไม่ต้องกลับมารักษาอีก”

“คนทั่วไปมักเข้าใจว่าการลด เลิก ตัด ไม่ใช้สารเสพติด ไม่ดื่มเหล้า ไม่น่าจะใช่เรื่องยาก แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องของการติด เป็นเรื่องของสมอง ซึ่งแก้ยาก ดังนั้นถ้าไม่มีใครช่วยเหลือ ช่วยประคับประคองเขา กระทั่งไปประณาม ตั้งข้อรังเกียจ มองว่าเป็นการหาเรื่องใส่ตัว ทำตัวเอง แก้ปัญหาผิดๆ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญและช่วยเหลือเขาอย่างจริงจัง แบบนั้นถือว่ามาไม่ถูกทาง”

 

อินโฟกราฟิก : ดูแลอย่างไร … ถ้าคนใกล้ตัวมีปัญหาการดื่มสุรา?

 

เพื่อนคุณอยู่เลเวลไหนเวลากินเหล้า?

เลเวล 1 : ปากบอกไหว แต่ใจพร้อมหลับ

เราจะมีวิธีสังเกตอาการแบบไหน ที่ดูแล้วเข้าข่ายเมาภาพตัด?

เลเวล 2 : สิบแก้วไม่เมา กลัวเหล้าไม่พอ

เราจะเช็คคนใกล้ตัวว่าเขาติดเหล้ามั้ย ได้ยังไง?

เลเวล 3 : ขาดเธอ เหมือนขาดใจ

อาการแบบไหนที่เรียกว่าลงแดงจากการขาดเหล้า?

อย่าลืมว่า เพื่อนแท้มีน้อย เพื่อนสติเต็มร้อยก็เช่นกัน

3 สกิลที่ควรมีติดตัวเวลาอยู่ในวงเหล้า

สกิลที่ 1 : (ดูแลคน) วาร์ปเก่ง – ดื่มอยู่ดีๆ หันมาอีกทีเพื่อนปลิว (หมดสติ) ไปแล้ว แบบนี้ต้องทำยังไง?

สกิลที่ 2 : ม้วน (ผ้า) เก่ง – ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันคือเพื่อนชัก อย่าเพิ่งผลีผลามคว้าช้อนยัดปากไป แต่ต้องทำอย่างไรลองอ่านดูเลย!

สกิลที่ 3 : ประคบเก่ง – นั่งอยู่ดีๆ ได้ยินเสียงดังตึง ปรากฏว่าเพื่อนปลิวแถมศีรษะยังฟาดพื้นอีก เจอเหตุการณ์แบบนี้อย่าเพิ่งตกใจ ตั้งสติไว้ และทำตามคำแนะนำในรูป

เพราะเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนของคุณเริ่มสติหลุดในวงเหล้า เราจึงต้องเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์ เย็นนี้นั่งๆ อยู่ ก็ลองสังเกตอาการของคนใกล้ตัวสักนิด เผื่อเกิดอะไรขึ้น จะได้ดูแลเขาได้อย่างถูกวิธี

 

เหล้าจ๋า น้องลาก่อน: 7 วิธีบอกเลิก ไม่ให้เหล้าต้องเจ็บ

 

ฝากไปบอกเหล้าที ว่าไม่มีเราต่อไป~
กับ 7 วิธี ตัดใจจากเหล้า ถนอมความรู้สึกคนเคยรัก บวกกับ 4 เคล็ดลับพิเศษ เพื่อให้การบอกเลิกครั้งนี้จบจริง!

“(เหล้า) ที่รัก เราเลิกกันเถอะ”

ผมบอกกับขวดสีอำพันตรงหน้า รู้สึกเจ็บแปลบๆ เมื่อต้องบอกเลิกกับพี่แอล (กอฮอล์) ที่ผูกพันกันมาแสนนาน แต่จะให้ทำอย่างไรได้ เพื่อสุขภาพและเพื่อคนรอบตัว เข้าพรรษานี้ผมต้องเลิกเหล้าให้ได้!

หมายเหตุ: ภาพด้านบนเป็นสถานการณ์จำลองถึงนักดื่มหลายคนที่อยากเลิกเหล้าให้เด็ดขาด แต่บางคนก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องกลับมาหาพี่เหล้าคนรักเก่าอยู่ร่ำไป

และถึงแม้มันอาจจะดูเว่อร์ไปสักนิด แต่เชื่อเถอะว่า การเลิกเหล้าสำหรับผู้ดื่มที่ดื่มมานานแสนนานนั้นไม่ง่ายเลย ทั้งด้วยอาการทางกายและทางใจ ทำให้ขั้นตอนที่ยากที่สุดของการเลิกเหล้าก็คือการเริ่มต้นที่จะเลิกเหล้า และจากการที่มีโอกาสได้คุยกับผู้ป่วยที่เคยติดเหล้า ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อติดเหล้าไปแล้ว จะให้เลิกก็ยากเกินห้ามใจ มีคนถึงกับบอกว่า ‘ตนเองยอมตายไปพร้อมกับการนอนกอดขวดเหล้า’ เลยทีเดียว

แต่แม้การบอกเลิก (เหล้า) จะเป็นเรื่องยาก ก็ใช่ว่าคุณจะเลิกไม่ได้ เพราะหลายครั้งที่ความล้มเหลวในการเลิกเหล้ามาจากการขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการเลิกเหล้า และทำให้การเลิกเหล้าต้องล้มเหลวไป

 

“ดื่มเพื่อสุขภาพ(?)” เมื่อยีนส่งผลให้แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กับคนแตกต่างกัน

 

หนึ่งในความเชื่อของชาวเอเชียคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีต่อสุขภาพ

ได้ยินแบบนี้ หลายคนคงเริ่มคุ้นชื่อกับยาชูกำลังอย่างม้ากระทืบโลงหรือโด่ไม่รู้ล้ม ที่เขาว่ากันว่ามีสรรพคุณร้อยแปด ทั้งบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ยันเสริมพละกำลัง ความเชื่อเหล่านี้จึงยิ่งน่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีก

แต่ใช่ว่าจะมีแต่ชาวเอเชียที่เชื่อแบบนี้ เพราะในตะวันตก ก็มีความเชื่อในทำนองเดียวกัน เช่น งานวิจัยที่บอกว่า การบริโภคแอลกอฮอล์จะช่วยให้คอเลสเตอรอลดี และไม่ได้เป็นอันตรายต่ออินซูลินในร่างกาย

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า อาจไม่ใช่ทุกเชื้อชาติที่เหมาะกับการดื่ม โดยเฉพาะชาวเอเชียอย่างเราๆ เมื่อมีงานวิจัยที่ค้นพบว่า ชาวเอเชียมียีนบางอย่างในร่างกายที่อาจไม่รองรับการบริโภคแอลกอฮอล์!

 

(Quote) เลิกเหล้ามันอยู่ที่ (เข้า) ใจ ความคิดและพฤติกรรม : สำรวจการบำบัดแบบ CBT (Cognitive Behavior Therapy)

 

อาการติดเหล้าเป็นอย่างไร หากคนไข้ผ่านการบำบัดสารเสพติดหลายๆ ครั้ง จะช่วยให้เลิกได้ง่ายขึ้นหรือไม่ หักดิบคืออะไร และปลอดภัยจริงหรือไม่ และวิธีช่วยคนใกล้ตัวให้เลิกเหล้าได้สำเร็จคืออะไรกันแน่ …

ชวนอ่านทัศนะของ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นจิตแพทย์ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT (Cognitive Behavior Therapy) ในประเทศไทย ได้เผยวิธีการเลิกเหล้าแบบ CBT ที่เริ่มต้นจากการ ‘พูดคุย’ ทำความเข้าใจเหตุผลในการดื่ม สำรวจสภาพแวดล้อม และหาทางออกใหม่ๆ ให้กับเหตุผลของแต่ละคน รวมถึงตอบคำถามข้างต้นผ่านทางวิธีแบบ CBT

(อ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.นพ.ณัทธร ทิพยรัตน์เสถียร ฉบับเต็มได้ ที่นี่)

 

‘แก้วเหล้านั้นยังสำคัญอยู่ไหม?’ มองการบำบัดสุราผ่านหลักปรัชญาอัตถิภาวนิยม

 

หลักอัตถิภาวนิยมทำงานกับทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ข้างหน้าคือชวนให้เห็นภาพสวยงามในอนาคต ข้างหลังคือเบื้องหลังว่า คุณเจออะไรมาก่อนจะมากินเหล้า แล้วจึงปิดท้ายว่า เมื่อคุณเห็นภาพในอนาคต เห็นชีวิตในอนาคตที่คุณอยากใช้แล้ว มันไม่มีเหล้า แล้วแก้วนั้นยังสำคัญกับคุณอยู่ไหม”

“…เคสที่ติดสุรามาหนักๆ เขาไม่ได้เพิ่งเจ็บปวดหรือเพิ่งติดมาเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เขามีภาวะที่กดดันและเครียดมานานมาก คือรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากเลือกอะไร แต่ไม่กล้าแสดงความต้องการออกไป เลยตัดสินใจหนีความจริงโดยใช้การกินเหล้าให้ลืม จึงเกิดการใช้เหล้ามาเป็นการรับมือ…”

“ถ้าเป็นในสหรัฐฯ มีกฎหมายเลยว่า ถ้าคุณเกิดมีปัญหาขึ้นมา จะแค่เครียดก็ได้ รัฐจะมีบริการให้พบนักจิตวิทยาได้หลายครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าติดสารเสพติดจะไปเข้ากลุ่มบำบัดที่ไหนก็ได้ แต่ในไทย คุณลองถามสิว่า ถ้าอยากเลิกเหล้าต้องไปที่ไหน วิชาชีพไหนจะช่วยคุณได้ คนก็อาจจะยังไม่รู้ตรงนี้ แล้วยังเรื่องค่ารักษาอีก ต้องยอมรับว่า คนติดเหล้าคือคนที่ไม่ค่อยมีเงิน บางคนไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าเช่าห้องด้วยซ้ำ แล้วเขาจะจ่ายเงินเพื่อบำบัดเหล้าไหมล่ะ ลืมไปได้เลย”

“ถ้าจะมองจริงๆ มนุษย์ทุกคนก็เหมือนกันหมด แต่เราไม่ควรไปตัดสินว่า คนที่เลือกการรับมือแบบนี้จะแย่กว่าอีกคน และถ้าจะมองให้ลึกซึ้งกว่านั้นคือ คนที่เลือกเหล้า เขามีความเจ็บปวดบางอย่างอยู่หรือเปล่า จริงๆ แล้วมนุษย์เราควรเมตตาและเข้าอกเข้าใจกันไม่ใช่หรอ แต่สังคมทุกวันนี้เป็นเหมือนสังคมแห่งการตัดสินและกระทืบซ้ำมากกว่า”

 

ดื่มเหล้าเท่ากับ ‘แมน’ (?) : สำรวจมายาคติที่ทำให้ผู้ชายต้องดื่ม

 

คุณผู้ชายทั้งหลายเคยประสบปัญหาปฏิเสธการดื่มเหล้าไม่ได้บ้างหรือไม่

ในสังคมซึ่งถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ การดื่มสุราถูกนับเป็นการแสดงออกถึงความมาดแมนแบบหนึ่ง นั่นทำให้ผู้ชายหลายคนประสบปัญหา ‘ต้องดื่ม’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าใครออกตัวว่าไม่ดื่ม หรือดื่มไม่เป็น ก็อาจถูกคนรอบข้างหัวเราะเยาะหยันและมองว่าไม่มีความเป็นลูกผู้ชายเอาเสียเลย

แต่ลูกผู้ชายที่แท้จริงจำเป็นต้องดื่มเหล้าเสมอไปหรือ?

“การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากถูกมองเป็นวิธีพิสูจน์ความเหนือกว่า แกร่งกว่า แมนกว่า และคนที่คอแข็งที่สุดมักได้รับเสียงชื่นชม ยกย่องให้เป็นผู้นำของกลุ่ม”

“ตรงกันข้าม หากชายใดคออ่อน ดื่มแก้วสองแก้วแล้วเมาล้มพับ ก็อาจถูกตราหน้าว่าอ่อนแอเหมือนผู้หญิง ทำให้สุดท้ายแล้วผู้ชายต้องดื่มหนักขึ้น หนักขึ้นเพื่อฝึกฝนตัวเองให้คอแข็งยิ่งกว่าเดิม”

“การปลูกฝังวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่พร้อมกับการดื่มสุราอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหาความรุนแรงเพราะผู้ชายเชื่อว่าตนแข็งแกร่ง ต้องการแสดงอำนาจ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ความยับยั้งชั่งใจน้อยลงจนเกิดการทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัว และปัญหาสุขภาพของตัวผู้ดื่มเอง”

 

ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา ‘1413’ สายนี้เพื่อคนอยากเลิกเหล้า: คุยกับ พ.อ.(พิเศษ)นพ.พิชัย แสงชาญชัย

 

“วัตถุประสงค์ของสายด่วนเลิกเหล้าคือ การช่วยให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีแรงจูงใจในการเลิก ถ้าเป็นญาติ ก็ช่วยในด้านจิตใจ เพราะญาติมักจะได้รับผลกระทบจากผู้ดื่มและพยายามหาความช่วยเหลือ เมื่อเราคุยเสร็จแล้ว จะขอเบอร์ติดต่อเพื่อโทรกลับไปติดตามผล โดยเราตั้งโปรแกรมไว้ว่าจะติดตาม 5 ครั้งในหนึ่งปี โดยแบ่งเป็นโทรในช่วง 1 สัปดาห์ถัดไป 1 เดือนถัดไป 3 เดือนถัดไป 6 เดือนถัดไป และ 12 เดือนถัดไป เพราะฉะนั้น คนที่เข้ามารับบริการจะได้รับบริการให้คำปรึกษาประมาณ 6 ครั้ง”

“สุราถือเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย เข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งการดื่มสุราก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคม งานแต่ง งานบวช หรืองานเฉลิมฉลองอะไรต่างๆ ก็มักจะมีสุราเข้าไปเกี่ยวข้อง ภาวะติดกับภาวะปกติจึงอยู่ใกล้กันมาก ทำให้ผู้ดื่มมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองติด กว่าจะรู้ตัวก็เป็นมากแล้ว ดังนั้นจึงอาจจะรักษาค่อนข้างยาก อีกทั้งผู้ดื่มสุราจะมีโรคร่วมมาก ไม่ว่าทางกาย เช่น โรคตับ โรคกระเพาะ โรคหัวใจ รวมถึงโรคจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ดังนั้น ปัญหาการติดสุราจึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ยังมีปัญหาอยู่ข้างใต้อีกจำนวนมาก การจะดูแลแก้ไขต้องได้รับการประเมินโดยถี่ถ้วน ดูแลต่อเนื่อง และดูแลในหลายๆ ปัญหา”

“ส่วนมากคนไข้มักจะไม่ได้มารับบริการเองตั้งแต่ต้น คำแนะนำคือ ญาติสามารถไปปรึกษาแพทย์ได้ก่อน ไม่ต้องรอจนกระทั่งคนไข้มา ซึ่งนี่จะช่วยย่นระยะเวลาการไม่เข้าสู่การบำบัดรักษาได้ และเวลาที่ญาติเริ่มคุยกับคนไข้เรื่องมาพบแพทย์ ก็อย่าเพิ่งไปเน้นเรื่องการติดสุรา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ติดจะรับรู้น้อยที่สุดและจะปฏิเสธ แต่ให้เน้นที่ปัญหาซึ่งเขาพอจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นปัญหาของเขา เช่น เรื่องสุขภาพ บอกว่าเราห่วงใยสุขภาพของเขา อยากพาไปพบแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพ จากนั้นแพทย์จะพูดคุยเชื่อมโยงไปยังเรื่องอาการติดสุรา และนำไปสู่การบำบัดรักษาต่อไป”

 

ดื่มเหล้าเพื่อความเท่าเทียม : สุราและการต่อสู้ของสิทธิสตรี

 

ครั้งหนึ่ง การดื่มสุราของผู้หญิงเป็นสัญญะของการต่อต้านวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่

“ขณะที่ผู้ชายดื่มเหล้าสังสรรค์กับมิตรสหายจนกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงกลับไม่สามารถดื่มโดยปราศจากการถูกตีตราและตำหนิติเตียน ดังนั้น เมื่อทั่วโลกตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น เกิดการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมากขึ้น การดื่มเหล้าของผู้หญิงจึงกลายเครื่องมือหนึ่งซึ่งใช้ต่อต้านระบบปิตาธิปไตย”

“ประสบการณ์การถูกกดขี่ทางเพศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้หญิงหันมาดื่มเหล้ามากขึ้นหลังเป็นอิสระจากอำนาจของผู้ชาย”

“คำถามที่น่าสนใจคือ ปรากฏการณ์ผู้หญิงดื่มสุราที่เพิ่มขึ้นจากอดีตแสดงให้เห็นว่าเราหลุดจากขนบชายเป็นใหญ่อย่างสมบูรณ์แล้วใช่หรือไม่?”

 


หมายเหตุ: เก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles