มองปัญหาในขวดสุราผ่านแว่นตามานุษยวิทยา กับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

September 29, 2020


หลายคนอาจมองว่า โลกของวิทยาศาสตร์กับโลกทางสังคมศาสตร์ถูกแบ่งและแยกขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ ‘นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์’ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่นอกจากการเป็นแพทย์แล้ว อีกหนึ่งศาสตร์ที่เขาสนใจคือ มานุษยวิทยา ที่คุณหมอศึกษาจนกลายเป็นแว่นตาอีกแบบที่ใช้มองและทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ บนโลก จนกลายเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างโลกสุขภาพและโลกทางมานุษยวิทยา รวมทั้งนำความรู้ข้ามศาสตร์มาใช้ในการทำงานของเขา

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านทัศนะบางส่วนของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ว่าด้วยโลกของแพทย์และมานุษยวิทยา รวมถึงระบบบำบัดสุราในปัจจุบันที่คุณหมอโกมาตรนิยามว่า เราอาจจะลองเพิ่ม ‘การจัดความสัมพันธ์’ และ ‘การสื่อความปรารถนาดี’ เข้าไป

เป็นการเติมความเป็นมนุษย์ลงไปในระบบบำบัด เพราะเบื้องหลังขวดเหล้าทุกขวดมีเรื่องราวชีวิตคนซ่อนอยู่

อ่านบทสัมภาษณ์นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ฉบับเต็มได้ ที่นี่

 

:: หลีกหนีจากโลกไร้ความหวัง ::

 

ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุณหมอเห็นว่ามันฝังรากลึกในสังคมไทยอย่างไรบ้าง และรากหรือความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกับคนติดสุราอย่างไร

หลักการข้อที่สองคือ การเข้าใจบริบท คือ เข้าใจว่าการดื่มสุราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมอย่างไร เหมือนกับว่าการดื่มสุราเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่ง ที่เราจะเข้าใจมันได้ก็ต้องเห็นจิ๊กซอว์ตัวอื่นๆ ที่มาปะติดปะต่อประกอบกันด้วย  บริบทคือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ทำให้เราเข้าใจและเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเหมือนกับไฟฉาย เวลาเราส่องไฟฉายไปเพื่อหาสิ่งที่เราต้องการ แต่ด้วยความที่แสงจากไฟฉายจะค่อนข้างแคบ ก็จะทำให้เราไม่เห็นสิ่งแวดล้อมอื่นๆ พอเราจะไปเก็บของที่เราหา เราก็อาจไปสะดุดตอไม้ หัวชนกิ่งไม้ หรือก้าวไปเหยียบงูเข้า ไฟฉายที่ดีจึงมักมีกรวยแสงส่องออกมารอบๆ จุดโฟกัสด้วย ตรงนี้ก็เหมือนกับการที่เราจะเห็นบริบท ซึ่งการดื่มสุราของแต่ละกลุ่มก็อาจมีบริบทที่แตกต่างกัน บางบริบทคนดื่มอาจเลือกได้ บางบริบทอาจเลือกไม่ได้ อันนี้เราก็ต้องเข้าใจด้วย

มีคนเปรียบเทียบไว้น่าสนใจนะว่า ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบการดื่มสุรากับกาแฟในบริบทของการทำงาน จะพบว่ามันทำหน้าที่ตรงข้ามกัน ในโลกของการทำงาน กาแฟทำหน้าที่เปลี่ยนจาก ‘พัก’ ไปสู่ ‘งาน’ อย่างเช่น พอเราเริ่มจะลงมือเขียนบทความสักชิ้น ถ้าได้กาแฟสักแก้ว มันเป็นการส่งสัญญาณว่า “จะทำงานแล้วนะ” และดูเหมือนกาแฟจะทำให้เรามีสมาธิดีขึ้นด้วย  แต่เหล้าทำหน้าที่เปลี่ยนจาก ‘งาน’ ไปสู่ ‘พัก’ คือ พอเลิกงานก็ไปฉลองกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ สุรากับกาแฟในบริบททางสังคมแบบหนึ่งจึงทำหน้าที่เป็นหมุดหมายการเปลี่ยนข้ามเวลาในการใช้ชีวิตของเรา ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะผลในทางชีววิทยาด้วย คือ กาแฟเป็นตัวกระตุ้นให้ตื่นตัว ส่วนแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กล่อมประสาท ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ซึมๆ ไม่ซีเรียสกับอะไรมาก คือไม่รับรู้อะไรที่จะมาซ้ำเติม mental load ของเราอีกแล้ว ในบริบทของสังคมที่ผู้คนอยากหนีไปจากโลกที่ไร้ความหวัง การติดเหล้าจึงเป็นทางออกที่ผ่อนคลาย และในโลกที่ไม่ไหวแล้ว การดื่มก็เหมือนเป็นการหลบลี้หนีจากโลกของความจริงที่เจ็บปวด

ในแง่นี้ เหล้าจึงมีหน้าที่สังคมบางอย่างแตกต่างกันไปตามบริบท มันเป็นหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านของเวลางานไปสู่การเล่น หรือตัวเบิกทางของนักธุรกิจ เป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นทางการลดลงไป ผมคิดว่า การเข้าใจบริบทเหล่านี้อาจมีความสำคัญถ้าเราจะทำงานรณรงค์ เราอาจต้องเข้าใจมุมมองของคนดื่มว่า เขามองอะไรยังไง ขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจบริบทของการดื่ม อาจต้องไปดูฉากทัศน์ของการดื่มที่มีบริบทต่างกัน อันนี้อาจช่วยให้เราจำแนกแยกแยะเป้าหมายของการรณรงค์เพื่อที่จะสื่อสารข้อความให้กับแต่ละกลุ่มได้ เป็น tailor-made มากกว่าจะมองแบบ one size fits all ที่ไปเหมารวมจนสร้างภาพการดื่มสุราเป็นสิ่งเลวร้ายไปเสียทั้งหมด  ในบางกรณีที่การดื่มไม่เป็นปัญหา ก็อาจไม่ต้องเสียแรงเสียเวลารณรงค์ เพราะถ้าเรามองแต่ว่าสุราเป็นสิ่งเลวร้าย ก็เท่ากับว่าเราปฏิเสธที่ทางของแอลกอฮอล์ไปโดยสิ้นเชิง การเข้าใจบริบทต่างๆ ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีมายาวนานในสังคมไทยก็อาจจะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทต่างๆ ที่เหล้าทำหน้าที่อยู่  และเราอาจเสนอทางเลือกหรือทางออกที่หลากหลายมากกว่าการรณรงค์ให้เลิกเพียงอย่างเดียว

 

:: การรณรงค์กับบริบทเชิงโครงสร้าง ::

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจำนวนหนึ่งมีภาพจำว่าคนดื่มเหล้าเป็นคนจน หรือจนเพราะชอบดื่มเหล้า ตรงนี้สะท้อนให้เห็นวาทกรรมอะไรในสังคมไทยบ้างไหม โดยเฉพาะถ้ามองในแง่ของโครงสร้างทางชนชั้น

ถ้าเรามองว่า เราเลือกรณรงค์หรือส่งข้อความโดยเน้นไปที่กลุ่มคนจนหรือคนรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มอื่น ตรงนี้อาจจะมาจากความปรารถนาดีก็ได้ คือเป็นการรณรงค์เพราะเห็นปัญหา และเป็นห่วงกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็ต้องไม่ลืมมองอีกมุมว่า วาทกรรมหรือภาพที่ถูกผลิตออกมาอาจกลายเป็นการติดป้ายตีตรา ตอกย้ำความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือสร้าง stigma ให้กลุ่มคนจนไปด้วย การผลิตซ้ำที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนี้จะกลายเป็นการสร้างภาพเหมารวม (stereotype) ของคนจนว่าเป็นคนติดเหล้าไป หรือยิ่งไปกว่านั้น การรณรงค์ที่ไม่เข้าใจบริบทเชิงโครงสร้าง ทำให้เห็นว่าคนจนเหล่านี้เลือกที่จะไปดื่มเหล้าเอง ก็เหมือนเป็นการกล่าวโทษที่เน้นไปยังพฤติกรรมส่วนบุคคลเกินไป

การรณรงค์ที่ถูกผลิตขึ้นจากมุมมองชนชั้นกลางมักมีอคติของชนชั้นกลาง (middle-class biased) แฝงอยู่ คือ มีมุมมองที่คิดว่ามนุษย์มีอิสระในการเลือก (freedom of choice) ถ้าคุณได้ข้อมูลข่าวสารเพียงพอ คุณจะตัดสินได้ เพราะคุณมีเหตุผล ก้าวข้ามความเชื่อผิดๆ และมีอิสรภาพที่จะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องแทน แต่จริงๆ ในหลายๆ กรณี มนุษย์อาจไม่ได้เข้มแข็ง มีเหตุผล หรือมีอิสรภาพขนาดนั้น ถ้าเรามองว่ามนุษย์นั้นเปราะบาง คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนจนที่ดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ ไม่ค่อยมีทางเลือกในชีวิตอยู่แล้ว การปฏิเสธไม่ไปดื่มเหล้ากับหัวหน้างานหรือผู้รับเหมา อาจหมายถึงการไม่มีงานทำในวันต่อมา อันนี้เป็นงานวิจัยที่ผมเคยอ่านเกี่ยวกับการดื่มสุราของคนงานก่อสร้างในภาคเหนือ พอเป็นแบบนี้มันก็ไม่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่เรื่องความรู้ความเข้าใจในเรื่องโทษภัยของสุราแล้ว แต่พอเรารณรงค์แบบจน-เครียด-กินเหล้า ก็กลายเป็นการสร้างภาพเหมารวม ผูกความจนกับการไม่รู้จักคิด พอไปบวกกับมายาคติเรื่องอิสรภาพในการเลือก ก็เลยกลายเป็นการกล่าวโทษ ‘เหยื่อ’ หรือผลิตซ้ำภาพเหมารวมบางอย่างไป

 

:: สื่อสารความปรารถนาดี ::

 

ถ้าการสื่อสารแบบเดิมอาจก่อให้เกิดอคติ แล้วเราควรจะสื่อสารอย่างไรที่จะทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้

ผมคิดว่า นอกจากเราจะต้องมี ‘มุมมองของคนใน’ ‘เข้าใจบริบท’ และ ‘มองปรากฏการณ์แบบองค์รวม’ แล้ว ในแง่การสื่อสารในระดับบุคคลก็อาจต้องเข้าใจว่า การสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ถ้าจะมีข้อเสนอแนะ ผมคิดว่ามีหลักสำคัญๆ 4 ข้อ

ข้อแรก และเป็นข้อที่สำคัญที่สุด เราต้องสื่อให้ผู้รับสัมผัสถึงความปรารถนาดีของเราก่อน คือ ให้การสื่อสารอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีต่อกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เสมอกัน ไม่ถือดีว่าเราดีกว่า รู้มากกว่า ไม่ใช้การตำหนิ ต่อว่า ประจาน หรือทำให้เสียหน้า อันนี้เป็นด่านแรกของการสื่อสาร เพราะถ้าเรายังสื่อความปรารถนาดีออกไปไม่ได้ เราจะบอกอะไรหรือจะแนะนำอะไรให้กับใครก็จะยากมาก เพราะผู้รับสารอาจจะมองว่า คุณไม่ได้ปรารถนาดีอะไรกับเขาเลย ที่ทำไปเพราะหน้าที่ เพราะเป็นนโยบายองค์กรหรือเป้าหมายภารกิจ แต่ไม่ได้มาหวังดีกับเขาจริงๆ

ข้อที่สอง ต้องสื่อสารเพื่อฟื้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าคนไม่เห็นคุณค่าของชีวิต ไม่รู้สึกว่าเขามีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนอะไรก็จะไม่เกิดขึ้น คือต้องสื่อสารเพื่อย้ำให้เห็นถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทำให้เขาลุกขึ้นมากำหนดชีวิตของตนเองได้ ไม่ใช่สื่อสารด้วยการประณามหรือทำให้เขากลายเป็นเบี้ยล่างของความรังเกียจเดียดฉันท์

ข้อที่สาม สื่อสารเพื่อให้สังคมและชุมชนเข้ามาช่วย เพราะบางครั้ง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความเคยชินหรือปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ลำพังด้วยตัวของเราเองก็เกิดขึ้นได้ยากนะ เราลองสังเกตดูก็ได้ว่า ทุกศาสนาจะมีการรวมกันเป็นชุมชนทั้งนั้น เพราะการต่อสู้ทวนกิเลส ความเคยชิน และความสะดวกสบาย เป็นการต่อสู้ที่ทำได้สำเร็จตามลำพังได้ยาก  การมีแรงสนับสนุนจากชุมชนจึงสำคัญ ศาสนาต่างๆ จึงมีชุมชนคอยเกื้อหนุน หล่อเลี้ยง และดูแลกัน เพราะการต่อสู้ทวนกระแสเป็นเรื่องที่ยากมากและต้องใช้เวลา อาจเกิดการท้อถอยได้ง่าย อย่างกรณีของคนติดเหล้า แม้บางคนต้องการเลิกก็ยังเลิกได้ยาก ยิ่งถ้าเลิกได้ระยะหนึ่งแล้วกลับไปดื่มจนติดอีก เขาก็จะยิ่งอาย รู้สึกผิด ไม่กล้าสู้หน้าคนอื่นเข้าไปอีก การสื่อสารที่สำคัญจึงต้องเชื้อเชิญให้ชุมชนและสังคมเข้ามามีส่วนร่วม

เมื่อได้ทั้ง 3 ข้อนี้แล้ว ข้อที่สี่ จึงเป็นการสื่อสารว่า เขาต้องทำอะไร คือเป็นเรื่องวิธีการหรือเทคนิค แต่ผมสังเกตว่าทุกวันนี้ ถ้าเราต้องการให้ใครเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอะไร ส่วนใหญ่จะออกไปในลักษณะที่บอกว่า คุณต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ทำแล้วจะดีต่อสุขภาพ หรือดีต่อครอบครัว  แต่การบอกเทคนิคจะไม่ได้ผลเลยถ้าเรายังไม่สามารถสื่อความปรารถนาดีลงไปได้ อันนี้เป็นเรื่องที่รู้กันดีในแวดวงโฆษณา เหมือนอย่างโฆษณาประกันชีวิต หรือแม้แต่การโฆษณาสุราเอง ก็ล้วนแต่พยายามสื่อความปรารถนาดี สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน บางทีเราอาจจะต้องลองเรียนรู้เรื่องแบบนี้จากภาคธุรกิจบ้าง

ผมคิดว่า เนื้อหา (content) อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดนะ โดยเฉพาะเนื้อหาแบบสอนหรือเทศน์ให้คนทำ แต่ข้อความ (message) อาจมีความสำคัญในแง่ที่เป็นตัวจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้สื่อสารมากกว่า ทุกวันนี้ เราวางตัวเป็นคนสอนว่าอะไรถูก อะไรควร หรือบางครั้งก็เป็นการประณาม หรือประจานการกระทำที่เราเห็นว่าไม่เหมาะสม ผมคิดว่าความสัมพันธ์แบบนี้อาจไม่เกื้อกูลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สำหรับผม ถ้าเราหวังให้คนตั้งหลักหรือมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลง จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดจากการสอนเท่ากับเกิดจากความรู้สึกถึงความปรารถนาดี

 

:: ทบทวนการออกแบบระบบ ::

 

เราคิดว่า คนติดเหล้ามักไม่ยอมเข้ารับการบำบัด หรือเข้ารับการบำบัดได้น้อยมาก แต่ถ้ามองภาพกว้าง ทัศนคติและมุมมองเชิงลบของสังคมเองก็มีส่วนผลักคนติดเหล้าออกไปจากระบบด้วยหรือเปล่า

ก่อนจะตอบคำถามตรงนี้ ผมขอยกตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งในอินเดียเกี่ยวกับการรักษาวัณโรค ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะพูดว่า คนป่วยเป็นวัณโรคกับโรคเรื้อนมักไม่ยอมมารักษาเพราะความอับอาย กลัวว่าตนจะเป็นที่รังเกียจของคนอื่น เลยไม่ค่อยมารับยารักษาที่โรงพยาบาล เมื่ออัตราการรักษาต่ำ การควบคุมโรคก็ล้มเหลว อธิบายแบบนี้กันมาหลายปี

แต่เมื่อนักวิจัยลงไปศึกษาจริงๆ ถึงพบว่า ที่ว่ามานั้นไม่จริงเลย คนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้ารับการรักษาหรือรักษาไม่ครบถ้วน ก็เพราะเมื่อเขาไปถึงสถานพยาบาลแล้วมักจะไม่เจอเจ้าหน้าที่ คือ เจ้าหน้าที่ไม่อยู่ ไปประชุมบ้าง ออกไปทำงานนอกสถานพยาบาลบ้าง พอไปวันนี้ไม่เจอ จะกลับมาใหม่อีกก็ไม่ง่าย งานก็ต้องทำ ต้องดิ้นรนทำมาหากิน พอไป 2-3 ครั้งแล้วไม่ได้รับการรักษาอะไร ก็เลยรู้สึกว่าไม่ไปดีกว่า

ที่ผมเล่าเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า ในสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่า คนไม่มารับบริการหรือไม่มารักษา สิ่งที่เราต้องทบทวนคือ ระบบของเราดีหรือยัง การออกแบบระบบเหมาะกับการใช้งานไหม บุคลากรมีทักษะความสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญนะ เพราะปัญหาการติดสุราหรือยาเสพติดต่างๆ มีเรื่องการถูกทำลายความเชื่อมั่น เรื่องทัศนคติ และการรังเกียจเดียดฉันท์อยู่ด้วย ผมว่าตรงนี้เราต้องเข้าไปดูตัวระบบด้วยว่าเป็นอย่างไร ทำไมคนไม่มารับบริการเท่าที่ควร เพราะจริงๆ แล้ว เหล้ามีผลข้างเคียงต่อตัวผู้ป่วยที่เห็นผลทันตามากกว่าบุหรี่อีก ดื่มเหล้าคืนนี้ พรุ่งนี้ก็มีอาการเมาค้างเลย ปวดหัว ตอนเช้าลุกไม่ขึ้น อะไรแบบนี้ ดังนั้น ถ้าระบบบริการดีก็อาจมีคนมาปรึกษามากขึ้นก็ได้

 

:: ชีวิตมีความหวัง (?) ::

 

อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนกังวลคือ อายุของคนที่เริ่มดื่มเหล้าน้อยลงเรื่อยๆ คุณหมอคิดอย่างไรกับเรื่องการดื่มของเยาวชน ถ้าเราจะป้องกันพวกเขาไม่ให้ดื่มเหล้าเพิ่มมากขึ้น เราจะใช้กลยุทธ์การวางความสัมพันธ์ได้ไหม อย่างไร

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าพวกเขาจะไม่ดื่มจนเป็นปัญหา ถ้าชีวิตเขามีความใฝ่ฝัน หรือความหวังรอเขาอยู่ในอนาคต ถ้าเขามองเห็นอนาคตว่า ต่อไปเขาจะเติบโตไปทำสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตหรือต่อครอบครัวของเขา ถ้าเขามีความใฝ่ฝันและมีความหวังต่ออนาคตแล้ว คงไม่มีใครเสี่ยงที่จะไปทำอะไรที่อาจจะทำลายชีวิตตัวเองง่ายๆ

แต่ถ้าอนาคตหดหู่ มืดมน สิ้นหวัง หรือหมดหนทางการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน หรือทุกคนก็อาจจะไม่สนใจอะไรแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรจะเสีย อนาคตมันไม่ได้มีความหวังอะไรให้เขาแล้ว แบบนี้ก็คงไม่มีใครคิดอยากจะรักษาเนื้อรักษาตัวเพื่ออนาคต เพราะมันมองไม่เห็นอนาคตเลย ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่สุด ถ้าชีวิตคนมีความมุ่งหวัง มีความปรารถนาและใฝ่ฝันว่าเขาจะมีชีวิตที่ดี มีอนาคต ที่มัน promising คงไม่มีใครอยากทำลายชีวิตตนเองหรอก

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles