‘แล้วสักวันจะเป็นเวลาของเรา’: เข้า (ข้าง) ใจ มั่นคง และผ่อนปรน เพื่อช่วยคนรักให้เลิกเหล้าได้สำเร็จ

November 18, 2019


“แม่ติดตามลูกที่ดื่มมาตลอด ตั้งแต่เขาวัยรุ่นจนกระทั่งตอนนี้อายุ 40 กว่าปี ความกลุ้มใจ ตรอมใจ ไม่ได้เกิดแค่กับแม่ แต่เกิดกับทั้งครอบครัวที่ต้องทะเลาะกันเพราะสุรา พอเขาเลิกดื่มได้ ก็เหมือนมีกำลังใจขึ้นมา รู้สึกสบายใจ มีความหวัง และมีกำลังใจมากขึ้นที่จะสู้ชีวิตต่อไป”

ป้านวล (นามสมมติ) เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าเรื่องราวในฐานะ ‘คุณแม่ของคน (เคย) ติดเหล้า’ ในวงอบรม ‘5 เคล็ดลับช่วยคนรักเลิกเหล้าให้สำเร็จ’ จัดโดยศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ซึ่งมุ่งให้ผู้เข้ารับการอบรมเรียนรู้ พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้ดื่ม และให้กล้าที่จะสื่อสารเพื่อจูงใจ และช่วยเหลือผู้ติดสุราให้สามารถเลิกสุราได้สำเร็จ

แม้การอบรมในครั้งนี้จะเน้นไปที่ญาติหรือผู้ใกล้ชิดของคนติดเหล้า แต่ผู้ที่มาเข้าร่วมนั้นมีความหลากหลาย ทั้งญาติ ผู้ที่ทำงานเพื่อสังคม ไปจนถึงผู้ติดเหล้าและอดีตคนที่เคยติดเหล้าเอง

แน่นอนว่าทุกคนที่เข้าร่วมการอบรมล้วนมาจากต่างที่ ต่างวาระ และมีเรื่องเล่าต่างกัน แต่สิ่งที่เราเห็นได้จากทุกคนคือ แววตากระตือรือร้นที่จะเข้ารับการอบรม เพื่อนำเนื้อหาไปปรับใช้กับชีวิตของตนเอง และแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความหวังว่า ผู้เป็นที่รักของพวกเขาจะเอาชนะอาการติดเหล้าได้

ในกรณีของป้านวล สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ ความปลื้มปิติที่คุณนัท (นามสมมติ) ลูกชายของเธอ เลิกเหล้าได้แล้วเป็นระยะเวลา 2 เดือน

แม้ระยะเวลาในการเลิกเหล้าที่ถือว่าเป็นผู้ที่สามารถเลิกได้คือราว 1-2 ปีขึ้นไป ระยะเวลา 2 เดือนที่คุณนัทไม่ดื่มเหล้าจึงยังไม่นับเป็นระยะปลอดภัย แต่อย่างน้อย นี่ก็นับเป็นก้าวแรกที่ดีอย่างปฏิเสธไม่ได้

“แล้วคุณนัทรู้สึกอย่างไรบ้างครับที่คุณแม่ภูมิใจในตัวคุณ” วิทยากรหันไปถามทางคุณนัทที่นั่งข้างแม่ของเขา

“ผมก็ภูมิใจกับตัวเองเหมือนกัน” คุณนัทตอบกลับมา

แม้มองไม่เห็นสีหน้าของเขา แต่จากน้ำเสียง เราสัมผัสได้ถึงรอยยิ้มในนั้น

 

อาจารย์ธวัชชัย กุศล รองหัวหน้าโครงการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา สายด่วนเลิกเหล้า 1413 และวิทยากรผู้จัดอบรมเคล็ดลับเลิกเหล้าในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 

-1-

ทุกเรื่องเล่ามี ‘เหล้า’ เป็นองค์ประกอบ

 

“ทำไมคนเราต้องดื่มเหล้า?”

อาจารย์ธวัชชัย กุศล รองหัวหน้าโครงการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา สายด่วนเลิกเหล้า 1413 และวิทยากรผู้จัดอบรมเคล็ดลับเลิกเหล้าในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เริ่มต้นเนื้อหาการอบรมด้วยคำถามที่ฟังดูง่าย แต่ตอบยากแสนยาก

“เหตุผลมีไม่กี่คำครับ ให้จำคำ 4 คำนี้เอาไว้ ต้องการความสุข คลายทุกข์ เคยชินทุกกิจกรรม และสุขทุกข์คิดถึงเหล้า” ธวัชชัยกล่าวต่อ “ผมอยากให้เข้าใจก่อนว่า เราเริ่มดื่มเหล้า เพราะสังคมเชิญชวนเรา เราเห็นคำว่ามิตรภาพที่ผูกโยงเข้ากับการดื่ม จึงเริ่มดื่มเพื่อเข้าสังคม จนกลายเป็นการดื่มคนเดียว ดื่มทุกวัน และกลายเป็นการดื่มทั้งวันในที่สุด”

เขาขยายความว่า เมื่อดื่มไปมากๆ เข้าจนเริ่มติดแล้ว ต่อให้ไม่เจอวงเหล้าหรือไม่มีขวดเหล้าอยู่ตรงหน้า ก็สามารถนึกถึงเหล้าได้ บางคนแค่เข้าครัวและลงมือทำกับข้าว ก็พาลนึกถึงบรรยากาศตอนทำกับแกล้มกินกับเหล้า ทั้งบรรยากาศ สถานที่ และสิ่งแวดล้อม จึงล้วนเป็นตัวกระตุ้นได้ทั้งสิ้น

“ทุกอย่างมีเรื่องเล่า และเรื่องเล่าพวกนั้นก็เกี่ยวกับเหล้า ต่อให้ไม่หยิบขวดเหล้าก็จะพาลนึกถึงเรื่องเหล้าโดยธรรมชาติ” ธวัชชัยกล่าวสรุป

 

-2-

สุรานำพาโรค

คนหลายคนอาจคุ้นชินกับความคิดที่ว่า ดื่มเหล้ามากๆ จะก่อให้เกิดโรคตับแข็ง แต่อันที่จริง การจะเป็นโรคตับต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 กว่าปีขึ้นไป จนบางครั้ง ผู้ดูแลคนติดเหล้าเสียชีวิตไปก่อนคนติดเหล้าเสียด้วยซ้ำ แต่การดื่มสุราสามารถนำมาซึ่งโรคอื่นที่เราอาจคาดไม่ถึงได้ด้วย

“ส่วนใหญ่แล้ว คนดื่มสุราร้อยละ 51 เป็นโรคเครียด ร้อยละ 48 มีอาการซึมเศร้า ต้องได้รับการบำบัด และร้อยละ 11 มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรืออาจอยากฆ่าคนอื่น” ธวัชชัยอธิบาย และเสริมว่า ในกรณีที่พ่อแม่ดื่มเหล้า ลูกที่เกิดมามีโอกาสจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 11

โรคต่อมาคือโรคกระเพาะ เพราะคนที่ดื่มเหล้ามักจะดื่มตอนท้องว่าง แต่ลักษณะของกระเพาะคนเราเป็นเนื้อเยื่อ การที่ดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง ก็เหมือนกับการเอาแอลกอฮอล์ราดใส่แผลสด ทำให้ผู้ดื่มบางคนอาจจะเกิดภาวะเลือดซึม เมื่อถึงระดับที่ร่างกายเก็บไว้ไม่ไหว ก็จะอาเจียนหรือถ่ายออกมาเป็นเลือดสด ซึ่งธวัชชัยให้ข้อสังเกตไว้ว่า ที่อาเจียนออกมาเป็นเลือดสด เพราะร่างกายเก็บเลือดไว้ไม่นาน แต่ถ้าอาเจียนออกมาเป็นเลือดดำเมื่อไหร่ นั่นอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร

“อีกโรคหนึ่งที่คนไม่ค่อยเข้าใจ คือเบาหวาน” ธวัชชัยว่า “ต้องบอกก่อนว่า ร่างกายเรามีตับอ่อน ซึ่งตัวของตับอ่อนด้านหลังจะทำหน้าที่ควบคุมน้ำตาล แต่สุราจะไปจำกัดน้ำตาล หรือทำให้น้ำตาลมีมากเกินไป จนตับอ่อนอักเสบ และผลิตอินซูลินยับยั้งน้ำตาลไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นแผลง่าย”

ในขณะที่โรคสุดท้ายซึ่งต้องใช้เวลานานในการเกิด แต่เป็นโรคที่คนมักรู้จักกันดีที่สุดคือ โรคตับ สาเหตุที่โรคนี้เกิดขึ้นช้าที่สุด เพราะตับมีความแข็งมาก แต่น้ำตาลจากเบียร์ เหล้า จะก่อให้เกิดไขมันพอกตับ นำมาซึ่งอาการตับอักเสบ จนนำไปสู่อาการตับแข็ง อีกทั้ง ด้วยความที่ตับมีหน้าที่ขจัดของเหลวและสารพิษทุกอย่างของร่างกาย แต่เมื่อตับไม่ทำงาน จึงทำให้ร่างกายเกิดอาการบวมน้ำ ตาบวม ท้องมวน (ท้องมาน) ตามมา

นอกจากโรคสารพัดที่จะเกิดจากการดื่มเหล้ามากเกินไปแล้ว แอลกอฮอล์จะทำให้สมรรถภาพทางเพศของผู้ดื่มเสื่อม ถ้าเป็นผู้ชายอสุจิจะฝ่อ ไม่แข็งแรง มีลูกยาก และอาจจะมีหน้าอกโต เพราะความเป็นชายทำงานได้ไม่ดี ในขณะที่ผู้หญิงซึ่งดื่มเหล้าขณะตั้งครรภ์ ลูกที่จะเกิดออกมามีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม สมาธิสั้น หรือออทิสติก

 

-3-

ติดเหล้า

 

หนึ่งในคำถามที่ใครหลายคนคงคาใจคือ อาการ ‘ติดเหล้า’ เกิดจากอะไร และเป็นแบบไหน

ธวัชชัยตอบคำถามดังกล่าวว่า การติดเหล้าคือการที่เหล้าเข้าไปที่สมองมากๆ เป็นอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง คนที่ติดเหล้าจะมีอาการกระสับกระส่าย คันตัว หูแว่ว หรือแม้กระทั่งประสาทหลอน ซึ่งญาติหรือคนใกล้ชิดอาจไม่เข้าใจ และคิดว่าเป็นเรื่องของพฤติกรรมเสียมากกว่า

“ถ้าถามว่า ทำไมต้องดื่มเหล้า ต้องถามก่อนว่าถ้าคุณนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย คุณทรมานไหม นึกภาพสิว่าเราควบคุมเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ แต่เรารู้ว่ามียาวิเศษคือเหล้า กินแล้วหาย คนดื่มเลยดื่มเพื่อดับอาการนั้น อย่างสมมติว่าคุณปวดหัวเพราะเครียด ทำไมคุณไม่แก้ที่ต้นเหตุ แต่กลับไปกินยาแก้ปวดบรรเทาอาการแทน เพราะอาการมันปวดตอนนี้ มันต้องหายตอนนี้ใช่ไหม คนติดเหล้าเองเช่นกัน เขากินเหล้าแล้วหาย ดับความทรมานได้ นี่ถึงเรียกว่าอาการลงแดง”

อีกอาการหนึ่งที่บ่งชี้ว่าคุณติดเหล้าเข้าให้แล้ว คืออาการติดลม หลายคนคงเคยคิดว่าจะดื่มแค่นิดเดียวแล้วไปนอน แค่พอประคองร่างกายให้อยู่ได้ แต่ทำไปทำมากลับติดลมบน ทำให้พลอยดื่มยาวนานกว่าที่ตั้งใจ ซึ่งธวัชชัยชี้ว่านี่เป็นผลมาจากอาการสมองติดเหล้า ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ก็จะคิดถึงเหล้า และมีเหล้าเป็นองค์ประกอบทั้งหมด

“นอกจากนี้ คนติดเหล้าจะหมกมุ่นกับการหาเหล้ามาดื่ม ไม่ว่าจะกี่โมง จะไกลแค่ไหน ก็จะดั้นด้นไปหามาดื่มจนได้ ซึ่งแม้จะมีอาการข้างเคียง แต่อีกด้านคือความสุข สุขจนลืมไปว่ามันมีผลเสียอย่างไร”

เมื่อเหล้าเข้าสู่ร่างกาย จะออกฤทธิ์ต่อสมอง 2 ส่วน ได้แก่สมองส่วนอยาก ที่ถูกกระตุ้นให้หลั่งสารแห่งความสุข ผ่อนคลาย ออกมา เมื่อเหล้าหมดฤทธิ์ก็จะต้องหาเหล้าดื่มอีก จนเกิดเป็นอาการเสพติด และลงแดงเวลาไม่ดื่ม ขณะที่สมองอีกส่วนคือสมองส่วนคิด ที่ถูกกดทำให้มึนงง ตัดสินใจได้ไม่ดี นานวันเข้าก็จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และฉุนเฉียวง่าย สุดท้ายจะเกิดอาการสมองเสื่อม นำไปสู่อาการทางจิตและโรคจิตแบบถาวรได้

ธวัชชัยอธิบายให้เราเห็นภาพง่ายขึ้นว่า คนทุกคนย่อมเอาตนเองรอดเป็นอย่างแรก โดยเฉพาะเมื่อเราเจ็บปวด นี่ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว แต่เป็นเรื่องสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะรักตัวเองก่อน เยียวยาตัวเองก่อน แม้จะเป็นความรักแบบผิดๆ ก็ตาม เหล้าออกฤทธิ์ต่อสมอง เพราะฉะนั้น คนติดเหล้าจึงพลอยไม่ได้นึกถึงญาติหรือคนใกล้ชิด ตรงนี้เป็นอะไรที่ญาติและคนใกล้ชิดอาจต้องพยายามทำความเข้าใจ เพื่อจะดูแลจิตใจของตนเองด้วย

“ทีนี้ ถามว่าเราจะบอกเขาเรื่องติดเหล้าอย่างไร เราอาจไม่จำเป็นต้องบอกเขาตรงๆ ยิ่งอ้างว่าหมอบอกมายิ่งไม่ต้อง เพราะคนที่จะเลิกเหล้าร้อยทั้งร้อย มักจะเลิกเพราะสุขภาพ ไม่ก็เลิกเพื่อคนที่รัก ลองเอาเช็กลิสต์ง่ายๆ ไปให้เขาดู ให้เขาทำความเข้าใจด้วยตนเองก่อนว่า เขาติดเหล้าแล้ว แล้วจึงหาวิธีการพูดกันต่อไป”

 

เอกสารประกอบจากศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413

 

 

-4-

เข้าข้างใจ

 

“ก่อนจะให้เขายอมรับว่าเขาติดเหล้า เราต้องคิดไว้ก่อนว่า มนุษย์เราห่วงตัวเองมากที่สุด ที่เขาดื่มก็เพื่อดับอาการอะไรสักอย่าง เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน ทรมาน เขาดื่มเพื่อดับทุกข์ตรงนี้ ให้แสดงว่าเราเป็นห่วงเขา เรารู้ว่าเขาทรมาน เข้าข้างใจที่ทรมานนั้นก่อน ให้เขารับรู้ว่าเรากำลังคุยภาษาเดียวกัน ถ้าวันนี้เรายังเข้าข้างใจเขาไม่ได้ เราก็ยังไม่เข้าใจเขาจริงๆ เวลาคนติดรู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขา มันจะไปสู่กระบวนการต่อไปได้ เราไม่รู้หรอกว่ามันจะถึงเวลาเมื่อไหร่ แค่รับมือให้ดี เมื่อถึงเวลาที่เขาพร้อม เขาจะยินดีมาบำบัดเอง”

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ธวัชชัยได้ให้ผู้เข้าร่วมการอบรมคนหนึ่งรับบทเป็นภรรยาที่เพิ่งเผชิญกับอาการเมามายของสามีมาเมื่อคืนนี้ และถามสามีของตนในตอนเช้าที่เขาสร่างเมาแล้วว่า ‘ดื่มเหล้าแล้วมีความสุขไหม?’ จากนั้นจึงถามความรู้สึกของคนได้ยินว่า รู้สึกอย่างไรกับประโยคนี้

แน่นอน คนฟังรู้สึกเหมือนตนเองถูกกล่าวหา ถูกประชด แต่ต้องอย่าลืมว่า ตัวคนพูดเองก็เพิ่งเผชิญและเจ็บปวดกับอาการเมาอย่างหนักของสามีมาเมื่อคืนเช่นกัน

“พอคนเมาเมามากๆ แล้วภาพจะตัดไปเลย (black out) จำอะไรไม่ได้ คุยไปก็คุยไม่รู้เรื่อง จนคนคุยด้วยพาลอารมณ์เสียเปล่าๆ และจะพกอารมณ์ขุ่นมัวติดตัวมาด้วยในตอนเช้า แต่คนเมาที่เพิ่งสร่างเมาเขาจำอะไรไม่ได้เลย แต่จะให้เราถามเขาว่า สบายดีไหม ก็พูดไม่ออก เพราะเมื่อวานเราก็โดนอารมณ์ของเขาซัดมาเหมือนกัน”

ธวัชชัยเปรียบเทียบว่า การคุยกับคนเมาเปรียบได้กับการยืนอยู่หน้าพายุ ถ้าเราเห็นว่าข้างหน้ามีพายุ เราจะยังเดินฝ่าเข้าไปในพายุหรือไม่ การคุยกับคนเมาก็เหมือนการเดินเข้าไปในพายุ อย่างไรเราก็เหนื่อย ขณะที่เขาไม่รู้ตัวเลย ดังนั้น คำแนะนำจากนักจิตวิทยาผู้นี้คือ ถ้าเจอคนเมา อย่าพูดอะไร มันไม่มีประโยชน์ เพราะเขาไม่มีสติพอ

“ถ้าเจอคนใกล้ตัวเมา อย่างแรกคืออย่ายุ่ง ตัวใครตัวมัน ไม่ต้องคุยด้วย ต้องรู้ว่าเราอยู่กับคนเมา ไม่ใช่สามี พ่อ แม่ หรือลูกคนเดิมของเรา ผมถามก่อนว่าทำไมก่อนหน้านี้คุณถึงให้เขาดื่ม ทำไมถึงยังอยู่กับเขา ทำไมเคยคิดว่าเหล้าไม่ใช่ปัญหา เพราะเราคิดว่าเรารับมือได้ใช่ไหม คิดว่านิดเดียวไม่เป็นไร ผมขอบอกว่าเหล้าเป็นสารเสพติด ควบคุมไม่ได้ ถ้าใครสักคนต้องใช้เหล้าเป็นเครื่องมือทำให้ตัวเองอยู่รอด เขาจะไม่มีทางดื่มนิดเดียวได้ แต่เขาจะ ‘เสพ’ มันแทน”

เมื่อสร่างเมาแล้ว คำแนะนำต่อมาจากธวัชชัยคือ อย่าด่า อย่ากระตุ้น ให้อยู่นิ่งๆ ไว้ เพราะปัญหาของคนติดเหล้าคือไม่รู้ว่าตัวเองติด ไม่ได้มองว่าเหล้าเป็นปัญหา แต่มองว่าคือตัวช่วยดับความทรมาน ดังนั้น หน้าที่เราคือการให้เขาประเมินตัวเอง ให้ยอมรับว่าตนเองติดเหล้าแล้ว เพื่อจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาต่อไป

 

-5-

เมื่อสามีคุณติดเหล้า

 

เคสภรรยาทะเลาะกับสามีที่ติดเหล้าเป็นปัญหาคลาสสิกอย่างหนึ่งในสังคมไทยที่ธวัชชัยหยิบยกขึ้นมา เขาฉายภาพให้เห็นว่า สภาพครอบครัวไทยส่วนใหญ่มักปลูกฝังว่า ภรรยาต้องรักสามี ต้องเป็นภรรยาที่ดี ดังนั้น เวลาสามีเมากลับบ้านมา ภรรยาก็คอยดูแล คอยปรนนิบัติ เมื่ออาเจียนก็คอยเก็บกวาดให้ ซึ่งธวัชชัยบอกว่า การกระทำเหล่านี้อาจไม่ได้ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเรา แต่กลับทำให้สามีได้ใจมากขึ้น

“สุราจะกดสมองส่วนคิดเอาไว้ เพราะฉะนั้น เขาจะไม่ได้คิดถึงความดีของเรา ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความดีนะ แต่สามีจะเข้าใจว่าภรรยายอมรับการกระทำนี้ได้ คือเวลาคนหิวมากๆ ต้องกินข้าว เหม็นทั้งตัวก็อาบน้ำ เพราะสมองส่วนสัญชาตญาณทำงานทำให้เราต้องรักตัวเองก่อน แต่พอภรรยาดูแลสามี สามีก็อาจจะมองว่า ยังไงเราก็มาจะเก็บกวาดให้ นี่คือการส่งเสริมทางอ้อม คือการที่คุณยอมรับสิ่งนี้ไปแล้ว”

อีกปัญหาหนึ่งคือ ปัญหาในครอบครัว เมื่อลูกเห็นแม่โดนพ่อว่าตอนเมา ก็จะพลอยเกลียดพ่อไปด้วย จากประสบการณ์บำบัดคู่สามีภรรยาของธวัชชัย ภรรยาส่วนมากมักจะบอกว่า ไม่อยากเลิกกับสามี เพราะกลัวลูกไม่มีพ่อ แต่คำถามที่แท้จริงคือ ลูกยังเห็นพ่อเป็นพ่ออยู่ไหม ลูกบางคนไม่ได้เห็นพ่อ แต่เห็นแม่ที่ถูกกระทำมากกว่า

“จะมีสักกี่คนที่เข้าใจเรื่องสมองติดเหล้า คุณลองดูจำนวนผู้ติดเหล้า แล้วคนติดเหล้านั้นต้องมีภรรยา มีลูก มีครอบครัว ก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมมันเป็นปัญหา”

“ถ้าคุณเป็นภรรยาและแม่ ให้ดูแลตัวเองให้ดี มีความสุขให้ได้ก่อน ไม่งั้นจะส่งผลต่อลูก และลูกก็อาจจะมีปัญหาตามมา เราต้องรู้ว่า เขาไม่ได้พยายามจะออกมาจากตรงนั้น ยิ่งเราดึงเขา เราก็จะจมตามเขาไปด้วย สุดท้ายเราก็จะเหนื่อยและป่วย สิ่งที่ต้องทำคือญาติต้องดูแลตัวเองก่อน รักษาใจตัวเองก่อน”

 

-6-

สักวันจะเป็นเวลาของเรา

 

หลายคนอาจคิดว่า การรักษาด้วยการพบแพทย์และทานยาก็เพียงพอ แต่ธวัชชัยอธิบายว่า การที่จะถือว่าเป็นผู้ที่สามารถเลิกได้ต้องใช้เวลาราว 1-2 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้น การเลิกเหล้าไม่ใช่แค่การหยุดดื่มหรือทานยา แต่คือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง

และเพราะสมองติดเหล้าไปแล้ว ทำให้การเกิดเหล้านั้นยากยิ่งขึ้น ซ้ำยังมีตัวกระตุ้นอยู่มากมายคอยแต่จะดึงรั้งผู้ดื่มให้กลับไปหาขวดเหล้า ซึ่งตัวกระตุ้นแบ่งเป็นภายนอก ได้แก่ อุปกรณ์การดื่ม สถานที่ที่เคยดื่ม เห็นเพื่อนดื่ม ส่วนตัวกระตุ้นภายในคือความรู้สึกทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะรู้สึกอะไร เราจะมีข้ออ้างในการดื่มให้ตนเองเสมอ

“ถ้าคนใกล้ตัวเราติดเหล้า อย่างแรกที่ต้องถามตัวเองคือ เขาดื่มเพราะตัวกระตุ้นอะไร เป็นเพราะเราไหม มันเป็นเรื่องภายใน เรื่องความเจ็บปวด ต้องมีการบำบัดที่มากกว่าหาหมอ กินยา เลิกเหล้า แต่ต้องขจัดความเจ็บปวดของเขาให้หมดไป”

“แต่ถ้าวันนี้คุณทุกข์ คุณจำเป็นต้องดูแลตัวเองก่อน หาคนช่วย ร้องไห้ออกมาให้เต็มที่ เพราะเราไม่ใช่คนวิเศษหรือสมบูรณ์แบบ สักวันหนึ่ง เราจะมีเวลาดูแลตัวเอง เข้าใจคนอื่น และเป็นพลังให้กับคนอื่นได้ มันอาจไม่ใช่วันนี้ แต่สักวันจะเป็นเวลาของเราเอง” ธวัชชัยกล่าวทิ้งท้ายการอบรม

 


หมายเหตุ: เก็บความจากการอบรม ‘5 เคล็ดลับช่วยคนรักเลิกเหล้าให้สำเร็จ’ จัดขึ้นวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles